เวียดนามส่งเสริมอุต.เซมิคอนดักเตอร์
โฮจิมินห์ซิตี้ – ตลาดวงจรรวม (IC) และเซมิคอนดักเตอร์ในเวียดนามมีศักยภาพสูงมาก ที่จะสร้างโอกาสการลงทุนมหาศาลสำหรับนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศ จากข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญ
อุตสาหกรรม IC เป็นแรงสนับสนุนหลักให้กับอุตสาหกรรมอื่น เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศ , สื่อสารโทรคมนาคม , และวิศวกรรมเครื่องกลและอัตโนมัติ จากข้อมูลของ ศ. Đặng Lương Mô ผู้เชี่ยวชาญด้านวงจรรวม
โครงการพัฒนาวงจรรวมโฮจิมินห์ ซิตี้ช่วยส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่มีขนาดเล็กและมีค่าใช้จ่ายต่ำ โดยโครงการดำเนินการในปี 2556 – 2563 ตั้งเป้าเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม IC ผ่านการฝึกอบรมและวิจัย และสนับสนุนผู้ผลิต IC
โดยโครงการจะเน้นที่ธุรกิจ IC , การออกแบบและการผลิตต้นแบบ , ส่งเสริมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และ IC และการสร้างศูนย์ออกแบบและประดิษฐ์ใหม่
ในปี 2558 มีการอนุมัติสร้างโรงงานผลิตชิปโดยอดีตนายกรัฐมนตรี Nguyễn Tấn Dũng ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคของโฮจิมินห์ซิตี้
โฮจิมินห์ ซิตี้ เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีการพัฒนามากที่สุดในเวียดนาม มีศักยภาพสูงในการดึงดูดใจบรรดานักลงทุนรายใหญ่ เช่น Intel ในอุตสาหกรรม IC และเซมิคอนดักเตอร์ โดยบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Intel ได้ลงทุน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 30,000 ล้านบาทในโรงงานไมโครชิปในนิคมอุตสาหกรรมไซ่ง่อนตั้งแต่ปี 2549
ขณะที่ในปี 2559 Juki Viet Nam ที่ลงทุนโดยนักลงทุนญี่ปุ่นซื้อหุ่นยนต์ 2 แขนด้วยมูลค่าเกือบ 200,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 6 ล้านบาท) เพื่อใช้ในกระบวนการทำงาน เป็นหนึ่งในบริษัทแรกๆ ในเวียดนามที่ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์เพื่อพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ของบริษัท ทั้งนี้ หุ่นยนต์ช่วยลดกำลังแรงงานจาก 12 คนเหลือเพียง 1 คน และเป็นคนที่ควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์
Nguyễn Anh Tuấn ประธานสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์โฮจิมินห์ ซิตี้ (HSIA) ระบุว่า ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดสำหรับหน่วยงานรัฐและธุรกิจเอกชนคือการหาแรงงานที่สามารถทำงานและควบคุมเทคโนโลยีเหล่านี้
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการกว่า 300,000 รายในโฮจิมินห์ ซิตี้ และคาดการณ์ว่าจำนวนจะเพิ่มขึ้นถึง 500,000 รายในปีหน้า ทำให้เกิดดีมานด์สำหรับแรงงานคุณภาพสูง
โดยดีมานด์แรงงานทักษะสูงเติบโตอย่างน้อย 20% ต่อปีในช่วง 3 ปีล่าสุด แต่ซัพพลายแรงงานยังมีไม่พอกับดีมานด์
ศ. Hồ Tú Bảo ผอ.สถาบัน John von Neumann ประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติโฮจิมินห์ระบุว่า ทรัพยากรมนุษย์เป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากคนเป็น “ซอฟต์แวร์” ที่ควบคุมและใช้งานเทคโนโลยี
“เราอยากพัฒนาฐานทรัพยากรมนุษย์ที่แข็งแกร่ง แรงงานที่สามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนามูลค่า สร้างผลิตภัณ์ที่มีประโยชน์ ไม่เช่นนั้น พวกเขาก็จะมีทักษะในระดับต่ำเช่นนั้นต่อไป” .