คนจนเมืองยึดสุสานเป็นที่อยู่ในกัมพูชา
สุสานอาจเป็นที่พักชั่วนิรันดร์ของคนตาย แต่สุสานแห่งหนึ่งในกรุงพนมเปญกลายเป็นที่อยู่อาศัย เนื่องจากหลายชุมชนถูกทำลายด้วยการพัฒนาที่ไม่อาจหยุดยั้ง
มา นิต สารภาพว่าเธอ “พูดไม่ออก” เมื่อเธอตระหนักว่าสุสาน Smor San ในเมืองหลวงจะกลายเป็นบ้านของเธอหลังจากเธอแต่งงาน
“มันอยู่เหนือความเชื่อของฉันมากที่ว่าฉันสามารถอยู่ที่นี่ได้” หญิงวัย 42 ปี ผู้เป็นแม่ของเด็ก 4 คนระบุ “แต่ตอนนี้ ฉันปรับตัวได้แล้ว” เธอกล่าวกับสื่อ AFP โดยเผยว่าเธออาศัยอยู่ในสุสานแห่งนี้มานานถึง 16 ปีแล้ว
กัมพูชาเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว หลังจากหมดยุคเขมรแดง ซึ่งกวาดล้างทำลายทรัพย์สินส่วนตัวและสังหารประชากรไปมากถึง 1 ใน 4 ของประเทศในช่วงปี 2518 – 2522
ธนาคารโลกประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาปีที่แล้วว่าจะสูงสุดในรอบ 4 ปีคือ 7.5% แต่คอนโดมิเนียมจำนวนมากที่ผุดขึ้นแทนที่สลัม ทำให้ 14% ของชาวกัมพูชาที่มีความเป็นอยู่ต่ำกว่ามาตรวัดความยากจนจึงมีทางเลือกน้อยมากเรื่องที่อยู่อาศัย
ครอบครัวของ มา นิต เป็น 1 ใน 130 ครอบครัวที่อาศัยอยู่ในบ้านสังกะสีหลังเล็กๆ ตั้งอยู่ระหว่างป้ายหลุมศพสีสดใสในสุสาน Smor San หลายคนเริ่มสร้างบ้านตั้งแต่เมื่อ 20 กว่าปีก่อน และเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขากล่าวว่าสุสานเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับพวกเขา
กัมพูชาเป็นประเทศที่นับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนมาก แต่การฝังศพเป็นประเพณีของชาวเวียดนามที่เคยยึดครองกัมพูชา ขณะที่คนตายไม่รับรู้อะไร แต่ญาติๆ รู้สึกกังวลเกี่ยวกับชุมชนที่รุกล้ำเข้ามาอยู่ในสุสาน ทำให้พวกเขาเริ่มขุดศพคนที่เขารักไปฝังอยู่ที่อื่น
“พวกเขาบอกว่ามันเลอะเทอะ เพราะมีคนอยู่มาก” เปียน โมม ที่นังอยู่บนเตียงไม้ใกล้หลุมฝังศพขณะที่เด็กๆ วิ่งเล่นอยู่รอบๆ กล่าว “พวกเขาขุดศพบรรพบุรุษไปฝังที่อื่น” ชายวัย 63 ปีเสริม
เมื่อเขาย้ายมาที่นี่เมื่อ 19 ปีก่อนหลังจากต้องย้ายออกจากบ้านญาติ มีหลุมศพมากกว่า 300 หลุม แต่ปัจจุบัน เหลือเพียงประมาณ 110 หลุมเท่านั้น ตอนนี้มีคนอาศัยในสุสานนี้มากถึง 500 คน หมายความว่ามีคนเป็นมากกว่าคนตายแล้ว
อัม โสขา เป็นอีกคนที่สร้างบ้านใหม่ใกล้กับหลุมศพ เขายอมรับว่าบางครั้งเขาก็อาศัยกินอาหารที่ญาติๆนำมาไหว้คนตายบ้าง
“เราไล่ผีไปหมดแล้ว” ชายวัย 62 ปีกล่าว เขาเคยเป็นคนเร่ร่อน แต่ตอนนี้เขาหวังจะอาศัยอยู่ใน Smor San “ตลอดชีวิต”
“อยุ่ที่นี่ปลอดภัย ใกล้กับตลาด และเรามีไฟฟ้าและน้ำประปา” เขากล่าว
แต่อัม โสขา พูดถึงข่าวลือเรื่องสยองขวัญในสุสานว่า “เป็นแค่เรื่องหลอกคนให้กลัว แต่ความกลัวเรื่องผี เทียบไม่ได้กับการไม่มีที่อยู่”.