ออมสินชงขอสินเชื่อเพิ่ม 5 หมื่นล้าน
ออมสินขอคลังเพิ่มวงเงินอีก 50,000 ล้านบาท หลังจากโครงการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ ปล่อยกู้ 100,000 ล้านบาทหมดเกลี้ยง
“วงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 100,000 ล้านบาท หมดแล้ว และยังมีวงเงินที่ต้องการสินเชื่ออีกประมาณ 50,000 ล้านบาท ค้างอยู่ในท่อ ซึ่งประเด็นนี้ ธนาคารจะหารือกับคลัง เพื่อขอเพิ่มวงเงินที่ตามที่ลูกค้าต้องการ” นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าว
ทั้งนี้โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำฯ เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย.2558 รวมวงเงิน 100,000 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี โดยธนาคารออมสินจะปล่อยกู้ให้แก่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และธนาคารพาณิชย์ ในอัตราดอกเบี้ย 0.1% ต่อปีเพื่อนำปล่อยกู้โดยตรงให้กับผู้ประกอบการในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 4% ต่อปี โดยรัฐบาลจะชดเชยค่าใช้จ่ายส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารออมสินรวม 7 ปีประมาณ 20,000 ล้านบาท
สำหรับโครงการดังกล่าว มีสถานบันการเงินทั้งหมด 19 แห่งเข้าร่วมโครงการคือ 1. ธนาคารไทยพาณิชย์ ใช้วงเงินสินเชื่อประมาณ 25,000 ล้านบาท 2. ธนาคารกรุงไทย 24,000 ล้านบาท 3. ธนาคารกสิกรไทย 16,000 ล้านบาท 4. ธนาคารกรุงเทพ 12,000 ล้านบาท 5. ธนาคารออมสิน 4,800 ล้านบาท 6. ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) จำนวน 4,200 ล้านบาท และสถาบันการเงินอื่นๆ อีกรวมกว่า 14,000 ล้านบาท
นายชาติชาย กล่าวว่า “วงเงินกู้ที่เตรียมเอาไว้ 100,000 ล้านบาท ได้รับสนใจจากธนาคารพาณิชย์เป็นอย่างมาก โดยสินเชื่อที่ขอกู้เข้ามามากที่สุด เป็นสินเชื่อเพื่อการค้า และพาณิชย์ สินเชื่อเพื่อขยายธุรกิจ สินเชื่ออุตสาหกรรมเกษตร สินเชื่อบริการ และอื่นๆ”
ในช่วงเดือนของโครงการมีความคืบหน้าล่าช้ามาก เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการต้องเตรียมความพร้อม และเขียนโครงการให้เสร็จเรียบร้อยเพื่อเสนอแผนสินเชื่อให้ธนาคารออมสินอนุมัติ แต่เมื่อแผนงานดังกล่าวเสร็จเรียบร้อย ขั้นตอนที่เหลือก็เพียงแค่อนุมัติเท่านั้น ทำให้เดือนก.ย. อนุมัติสินเชื่อไปได้เพียง 13,000 ล้านบาท แต่ในเดือนส.ค. และพ.ย. ก็มีอัตราการเพิ่มขึ้นมากหลายหมื่นล้านบาท
สำหรับยอดเงินที่ค้างท่ออีก 50,000 ล้านบาท เกิดจากธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการ ได้ส่งคำขอสินเชื่อมาให้ธนาคารออมสินพิจารณาเพื่อเข้าร่วมโครงการมากเกินกว่าวงเงินที่มีอยู่ 100,000 ล้านบาท