กูเกิลกังวลกม.ต้านข่าวเท็จสิงคโปร์
เมื่อวันที่ 9 พ.ค.กูเกิลระบุว่า กฎหมายต่อต้านข่าวเท็จที่ผ่านความเห็นชอบของสภาสิงคโปร์จะส่งกระทบกับนวัตกรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่สิงคโปร์ต้องการส่งเสริมภายใต้แผนการเพื่อขยายอุตสาหกรรมเทคโนโลยี
โดยเมื่อวันที่ 8 พ.ค. รัฐสภาสิงคโปร์ได้ผ่านร่างกฎหมายป้องกันข่าวเท็จและการควบคุม ซึ่งถูกกลุ่มสิทธิ นักหนังสือพิมพ์ และบริษัทเทคโนโลยี วิจารณ์อย่างหนักเนื่องจากมีความกังวลว่า กฎหมายนี้จะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมเสรีภาพในการพูด
การผ่านกฎหมายนี้มีขึ้นในช่วงเวลาที่สิงคโปร์ ซึ่งเป็นฮับทางการเงินและการคมนาคมพยายามที่จะวางตำแหน่งประเทศเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมดิจิทัลในภูมิภาค
ขณะที่กูเกิลระบุว่า กฎหมายอาจบั่นทอนทำลายความพยายามเหล่านั้น
“ เรายังคงกังวลว่ากฎหมายนี้จะทำร้ายนวัตกรรม และการเติบโตของระบบนิเวศสารสนเทศดิจิทัล” บริษัทระบุในการตอบคำถามของสื่อรอยเตอร์
“ ไม่ว่าการปฏิบัติตามกฎหมายจะเป็นอย่างไร แต่เราให้ข้อผูกพันที่จะทำงานกับภาครัฐในกระบวนการนี้ ”
โดยกฎหมายกำหนดให้แพลตฟอร์มมีเดียออนไลน์ต้องแก้ไข หรือลบเนื้อหาที่รัฐบาลพิจารณาว่าเป็นเรื่องเท็จ โดยมีโทษจำคุกผู้ให้บริการมากถึง 10 ปี หรือมีโทษปรับถึง 1 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์
รมว.กระทรวงยุติธรรมระบุว่ากฎหมายจะไม่กระทบกับเสรีภาพในการพูด สิงคโปร์ระบุว่า นี่จะเป็นการขจัดข่าวเท็จ เพราะประเทศกำหนดตำแหน่งตัวเองว่าเป็นฮับการเงินของโลก
มีประชากรที่ผสมผสานเชื้อชาติและศาสนาที่แตกต่าง และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในวงกว้าง
“ เรายังคงกังวลถึงกฎหมายใหม่ซึ่งให้อำนาจกับผู้บริหารสิงคโปร์ที่จะบังคับหรือกดดันเราให้ลบเนื้อหาที่พวกเขารู้สึกว่าเป็นเรื่องเท็จ และมีการแจ้งเตือนจากรัฐบาลไปที่ผู้ใช้งาน “ ไซมอน มิลเนอร์ รองประธานฝ่ายนโยบายสาธารณะประจำเอเชีย – แปซิฟิกของ
เฟซบุ๊กให้ความเห็น โดยเขาระบุว่า ทางเฟซบุ๊กหวังว่าแถลงการณ์ของกระทรวงจะนำไปสู่ “การปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสม”
ทั้งนี้ เฟซบุ๊กและสิงคโปร์มีกรณีพิพาทกันในปีที่แล้ว เมื่อบริษัทปฏิเสธที่จะลบบทความออนไลน์เกี่ยวกับธนาคารสิงคโปร์และมาเลเซียที่เกี่ยวข้องกับกองทุนฉาว 1MDB ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์ระบุว่า “เป็นเรื่องเท็จและมุ่งร้าย”
พี่น้องของนายกรัฐมนตรีลีเซียนลุงใช้เฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือในการชี้แจงมุมมองของพวกเขาระหว่างที่มีความขัดแย้งเรื่องพินัยกรรมของบิดากับนายกฯ ลี และสาธารณชนได้รับทราบเรื่องนี้ในปี 2560
แม้ว่ารัฐบาลมีการปรึกษากับบริษัทเทคโนโลยีเกี่ยวกับกฎหมาย ด้วยการไต่สวนของสภาในปีที่แล้ว แต่บรรดานักเคลื่อนไหวกังวลว่ากฎหมายใหม่นี้จะทำให้รัฐบาลมีอำนาจในการตัดสินใจว่าสิ่งที่โพสต์ออนไลน์เป็นเรื่องจริง หรือเท็จ.