เหมืองหยกเมียนมาถล่ม อาจคร่ากว่า 50 ชีวิต
กว่า 50 คนสูญหายและเกรงว่าจะเสียชีวิตแล้วหลังจากเกิดดินถล่มฝังร่างคนงานในเหมืองหยกแห่งหนึ่งในรัฐคะฉิ่นของเมียนมา
สำนักข่าวภาครัฐของเมียนมารายงานว่า เกิดเหตุดินถล่มที่เมืองพะกันต์ ซึงเป็นเมืองที่มีแร่หยกจำนวนมากในช่วงเช้าของวันที่ 23 เม.ย.
มีการยืนยันผู้เสียชีวิตแล้ว 3 ราย และเชื่อว่าอีก 51 คนติดอยู่ในทะเลสาบโคลนที่เกิดจากดินถล่มในเหมือง สำนักข่าวเมียนมารายงาน
“ การค้นหาร่างของพวกเขาทำได้ยาก มีจิตอาสาประมาณ 60 คนจากสมาคมการกุศลที่เข้ามาช่วยค้นหาร่างผู้เสียชีวิต” อู ขิ่น หม่าว ประธานองค์การการกุศลในประเทศระบุ อ้างอิงจากสำนักข่าวในประเทศ
เชื่อกันว่า หยก เป็นหนึ่งในสินค้าส่งอกที่ทำกำไรสูงสุดของเมียนมาและมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีดีมานด์สูงมากจากประเทศเพื่อนบ้านคือจีน
Global Witness องคกรที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่อุทิศตัวในการสืบสวนกรณีคอร์รัปชั่นและการทำลายสิ่งแวดล้อมประเมินว่า อุตสาหกรรมหยกมีมูลค่าประมาณ 31,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 993,550 ล้านบาทในปี 57 คิดเป็นเกือบครึ่งของตัวเลข GDP ทางการของเมียนมา
ตัวเลขที่แท้จริงไม่มีใครทราบเพราะอุตสาหกรรมไม่มีการกำกับดูแล แต่ Natural Governance Institute ซึ่งเป็นกลุ่มกฎหมายจัดอันดับให้ภาคส่วนอัญมณีของเมียนมาเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่คลุมเครือ ไม่โปร่งใสที่สุดในโลก
อุตสาหกรรมนี้ถูกกัดกร่อนทำลายด้วยคอร์รัปชั่นและการกระทำผิด โดยกำไรจะไหลเข้าไปที่กลุ่มติดอาวุธและผู้มีอิทธิพลทางการเมืองโดยไม่ต้องเสียภาษี และกลายเป็นเงินสนับสนุนที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางเหนือของประเทศมายาวนาน
หลายเหมืองในเมียนมาดำเนินการโดยกลุ่มติดอาวุธที่ต่อสู้กับรัฐบาลเมียนมาและกลุ่มพ่อค้ายาเสพติดรายใหญ่ในประเทศ อ้างอิงจากรายงานของผู้สังเกตการณ์นานาชาติ แม้ว่าเหมืองส่วนใหญ่จะอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล
ในปี 60 ธนาคารโลกประเมินว่า 60 – 80% ของอัญมณีที่ผลิตได้ในเมียนมาถูกส่งออกโดยไม่มีการเสียภาษี
ในปี 61 กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯมีรายงานที่กล่าวหาว่าอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในรัฐคะฉิ่นมีการจ้างแรงงานที่ถูกบังคับมา.