ซูจีชูเมียนมาเปิดรับธุรกิจ
เมื่อวันที่ 28 ม.ค. นางอองซาน ซูจี ผู้นำเมียนมากระตุ้นนักลงทุนให้สนใจเทงบลงทุนเข้ามาในเมียนมา เพื่อเป็นการชดเชยผลกระทบด้านลบจากวิกฤตชาวโรฮิงญา และปฏิรูปเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
นางซูจีโน้มน้าวให้เห็นถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจของเมียนมา สถานที่ตั้งด้านภูมิศาสตร์ที่น่าดึงดูดใจ รวมถึงตลาดในประเทศที่ขยายตัวและประชากรอายุน้อย เธอยังได้เอ่ยถึงสิ่งที่รัฐบาลของเธอได้ดำเนินการปฏิรูปตั้งแต่เข้าสู่อำนาจเมื่อปี 2559
“ ดิฉันอยู่ตรงนี้เพื่อยืนยันถึงคำมั่นของเราที่จะมีการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง และสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรต่อการลงทุน ” นางซูจีระบุในกรุงเนปิดอว์ ซึ่งรัฐบาลเมียนมาของเธอได้จัดการประชุมเกี่ยวกับการลงทุนเป็นครั้งแรก
“ โปรดมาที่เมียนมา ซึ่งมีบรรยากาศที่เต็มไปด้วยโอกาส เพื่อให้เห็นกับตาตัวเองถึงแรงสั่นสะเทือนทางเศรษฐกิจที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ของเรา ” เธอกล่าวกับกลุ่มนักธุรกิจ นักการทูต และผู้สื่อข่าวในห้องประชุม
ขณะที่มีรายละเอียดที่เกี่ยวข้องเพียงเล็กน้อย การประชุมครั้งนี้ถือเป็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลพม่าที่จะเข้าถึงประชาคมธุรกิจ จนถึงตอนนี้ นักลงทุนตำหนิรัฐบาลที่มุ่งเน้นแต่การยุติความขัดแย้งด้วยกำลังทหาร ละทิ้งการปฏิรูปทางเศรษฐกิจและความต้องการของพวกเขา
ในการกล่าวสุนทรพจน์ของเธอ นางซูจีไม่ได้เอ่ยถึงวิกฤตโรฮิงญาและผลกระทบที่มีกับการลงทุน ธุรกิจจำนวนมากกังวลว่าการคว่ำบาตรจากประเทศตะวันตกจะทำให้เศรษฐกิจอ่อนแรงลงภายใต้การบริหารของรัฐบาลที่กองทัพกลับมามีอำนาจอีก
ทั้งนี้ ชาวมุสลิมโรฮิงญาประมาณ 730,000 คนอพยพหลบหนีจากรัฐยะไข่ข้ามพรมแดนไปบังคลาเทศ เนื่องจากกองทัพเข้าปราบปรามในปี 2560 อย่างรุนแรง หลังกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญาโจมตีป้อมตำรวจก่อน
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่าเมื่อปีที่แล้ว ข้อมูลชี้ว่านักลงทุนต่างชาติจำนวนมากเลื่อนการอนุมัติโครงการจนกว่าจะมีความชัดเจนเรื่องสถานการณ์ที่มีเสถียรภาพในเมียนมา
สหภาพยุโรปกำลังพิจารณาการคว่ำบาตรทางการค้ากับเมียนมาจากวิกฤตโรฮิงญา โดยยกเลิกสิทธิพิเศษศุลกากรเดิมที่ไม่เก็บภาษีสินค้าของเมียนมาที่นำเข้ามาในอียู โดยมาตรการนี้ยังรวมถึงอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าของเมียนมา ซึ่งส่งผลทำให้งานหลายพันอัตราตกอยู่ในความเสี่ยง
โดยเมื่อเดือนม.ค. อียูเริ่มมาตรการจัดเก็บภาษีข้าวที่ส่งออกจากเมียนมาและกัมพูชามาใช้เพื่อควบคุมตัวเลขการนำเข้าข้าว และนางซูจีไม่ได้เอ่ยถึงมาตรการของอียูในสุนทรพจน์ของเธอ
ธนาคารโลกระบุในเดือนธ.ค.2561 ว่า ธนาคารคาดการณ์ว่า GDP ของเมียนมาจะลดลงมาอยู่ที่ 6.2% ในปีงบประมาณ 2561 – 2562 จากเดิมคือ 6.8% ในปี 2560
นักลงทุนให้เครดิตรัฐบาลที่มีการแต่งตั้งรมว.กระทรวงการคลังคนใหม่คือนายโซวิน ซึ่งเคยมีประสบการณ์ในการทำงานด้านการเงินระหว่างประเทศ
รัฐบาลเมียนมายังคงปฏิรูปกรอบกฎหมายในการลงทุนและการจัดตั้งบริษัท ผ่อนคลายกฎระเบียบการลงทุนตั้งแต่สมัยรัฐบาลทหารให้เป็นแนวคิดเสรีมากขึ้น และสร้างธนาคารเพื่อสนับสนุนโครงการสำคัญ.