มหาเธร์ชี้โอเปกแก้ราคาน้ำมันไม่ได้
องค์กรร่วมประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อการส่งออก หรือโอเปกไม่มีประสิทธิผลในการทำให้ราคาน้ำมันเสถียร ทำให้ต้องพึ่งพาน้ำมันที่ผลิตจากสหรัฐฯ มากขึ้นกว่าน้ำมันที่กลุ่มผลิตได้ อ้างอิงจากความเห็นของนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัดแห่งมาเลเซีย
“ โอเปกทำงานไม่ได้ผล มักจะมีการทะเลาะวิวาทระหว่างกันอยู่เป็นประจำ ทำให้ตัดสินใจไม่ได้ ” นายกฯมหาเธร์กล่าวให้สัมภาษณ์กับสื่อ CNBC เมื่อวันที่ 12 พ.ย. โดยผู้นำมาเลเซียถูกถามว่าโอเปกควรมีมาตรการอื่นเพื่อทำให้ราคาน้ำมันมีเสถียรภาพหรือไม่
“ สิ่งที่สำคัญกว่าคือการผลิตน้ำมันจากชั้นหิน (shale oil) จากสหรัฐฯ ”
โดยความเห็นของนายกฯมหาเธร์มีขึ้นไม่ถึงเดือนก่อนที่สมาชิกกลุ่มโอเปกและไม่ใช่โอเปกมีกำหนดจะประชุมร่วมกันที่กรุงเวียนนา ออสเตรีย
เพื่อโหวตลงมติเกี่ยวกับการตัดสินใจในนโยบายต่อไป กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่เริ่มลดเพดานการผลิตน้ำมันลงเมื่อเดือนม.ค.2560 เพื่อลดปริมาณน้ำมันที่ล้นตลาดจนทำให้ราคาน้ำมันที่เคยพุ่งทะลุ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลดิ่งเหวลงมาอยู่ต่ำกว่า 30 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันฟื้นตัวขึ้นจริง แต่ปัจจัยอื่น เช่น ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน อัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้น และค่าเงินที่อ่อนลงในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลก และความต้องการใช้น้ำมัน
ทั้งนี้ มาเลเซียเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ทำให้นักวิเคราะห์ที่ Fitch ระบุว่า ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงจะทำให้ความพยายามที่มาเลเซียจะลดจำนวนหนี้ลงเป็นไปได้ยากขึ้น เนื่องจากประเทศต้องพึ่งพารายได้จากน้ำมัน แต่นายกฯมหาเธร์ระบุว่า เศรษฐกิจของมาเลเซียมีความหลากหลายกว่าที่คนทั่วไปคิด
“ เราไม่ได้พึ่งพารายได้จากน้ำมัน เราเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายเล็ก แค่ 6 แสนบาร์เรลต่อวัน ไม่สามารถเทียบได้กับประเทศอย่างซาอุดิอาระเบีย ซึ่งพึ่งพารายได้จากน้ำมันทั้งหมด” นายกฯมหาเธร์กล่าว “ เรามีแหล่งรายได้อื่นๆ เราผลิตน้ำมันปาล์มมาก ซึ่งขายได้ราคา เรายังมีการส่งออกถึง 82% ของสินค้าที่เราผลิตได้ ดังนั้น คุณจะบอกว่าเราพึ่งพารายได้จากน้ำมันอย่างเดียวหรือ ? ไม่ใช่หรอก ” เขาเสริม
ความเห็นของนักวิเคราะห์จาก Fitch มีขึ้นหลังมาเลเซียระบุเมื่อช่วงต้นเดือนพ.ย.ว่า จะตัดลดการขาดดุลงบประมาณมาอยู่ที่ 3.4% ของ GDP ในปี 2562 ลดลงมาจากเดิมที่เคยตั้งเป้าไว้คือ 3.7% ในปีนี้ โดย Fitch ระบุว่า มาเลเซียได้รับอานิสงส์จากตลาดที่มีต่อธุรกิจน้ำมัน และด้วยเหตุผลทั้งหมด ทาง Fitch ไม่แน่ใจว่ามาเลเซียจะสามารถบรรลุตามเป้าการลดตัวเลขขาดดุลงบประมาณได้จริง
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ระบุว่า มาเลเซียยังไม่ได้เผชิญกับความเสี่ยงที่จะถูกปรับลดอันดับในเวลาอันใกล้นี้
“ เราไม่คิดว่า สถานการณ์ในวันนี้ของมาเลเซียจะเลวร้ายและมีความเสี่ยงที่จะถูกปรับลดอันดับลง แม้สัญญาณที่ย่ำแย่ในการเงินภาครัฐจะทำให้สถาบันจัดอันดับเริ่มส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้าถึงตัวเลขงบประมาณ ” Prakash Sakpal นักเศรษฐศาสตร์ที่ ING ระบุในรายงานเมื่อสัปดาห์ก่อน.