อินโดฯประท้วงซาอุฯประหารแม่บ้าน
อินโดนีเซียยื่นคำร้องขอประท้วงอย่างเป็นทางการกับซาอุดิอาระเบีย ประเทศผู้ค้าน้ำมันยักษ์ใหญ่ ในการประหารชีวิตหญิงแม่บ้านชาวอินโดฯ โดยไม่มีการชี้แจงกับครอบครัว หรือเจ้าหน้าที่กงสุลก่อน
Tuti Tursilawati ถูกประหารชีวิตเมื่อวันที่ 29 ต.ค.ในเมือง Thaif อ้างอิงจากรายงานของรมว.กระทรวงต่างประเทศของอินโดฯ หลังถูกตัดสินโทษประหารเมื่อ 7 ปีก่อนในข้อหาฆ่านายจ้างของเธอ ซึ่งเธอให้การว่าเป็นการป้องกันตัวเองจากการถูกนายจ้างข่มขืน
เมื่อวันที่ 31 ต.ค.ประธานาธิบดีโจโค วิโดโดวิจารณ์การตัดสินใจของซาอุฯ โดยระบุว่ารัฐบาลได้ประท้วงอย่างเป็นทางการไปทางซาอุฯและเรียกร้องให้มีการคุ้มครองแรงงานชาวอินโดฯให้ดีขึ้นกว่านี้ในซาอุฯ
Lalu Muhammad Iqbal ผอ.ฝ่ายคุ้มครองพลเมืองอินโดฯของกระทรวงต่างประเทศกล่าวกับสื่อรอยเตอร์เมื่อวันที่ 30 ต.ค.ว่า การกระทำของซาอุฯเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก
“ การประหาร Tuti Tursilawati มีขึ้นโดยไม่มีการแจ้งกับผู้แทนของเรา ทั้งในกรุงริยาด หรือเจดดาห์ ” เขากล่าวในการแถลงข่าว
Tursilawati อ้างว่า เธอจำเป็นต้องฆ่านายจ้างเพื่อป้องกันตัวในปี 2553 หลังเขาพยายามจะข่มขืนเธอ
Migrant Care ซึ่งเป็นหน่วยงาน NGO ที่ดูแลเรื่องสิทธิของแรงงานชาวอินโดนีเซียที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศ ได้ออกมาประณามและเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการทางการทูตที่จริงจัง โดย Migrant Care ระบุว่า อินโดฯควรหวนกลับไปใช้นโยบายเดิมคือการจำกัดจำนวนแรงงานอพยพชาวอินโดฯ ที่ต้องการไปทำงานที่ซาอุฯ ถึงแม้ว่าในปี 2558 อินโดฯได้ประกาศระงับคำสั่งห้ามไม่ให้แรงงานใหม่ไปทำงานใน 21 ประเทศในตะวันออกกลางแล้วก็ตาม
อินโดนีเซียมีประกาศห้ามหลังจากซาอุฯสั่งประหารชีวิตสองแม่บ้านชาวอินโดฯ ในปีเดียวกัน
สำหรับซาอุฯ การกระทำความผิด ทั้งการค้ายาเสพติด ข่มขืน ฆาตกรรม การละทิ้งศาสนา และการใช้อาวุธปล้น จะถูกลงโทษประหารชีวิตตามกฎหมายของศาสนาอิสลาม
นอกจากประเทศในตะวันออกกลางแล้ว อินโดฯ ยังส่งแรงงานไปทำงานในหลายประเทศในเอเชียด้วยเช่นกัน ทั้งสิงคโปร์ ฮ่องกง และมาเลเซียและมักจะมีการร้องเรียนอยู่บ่อยครั้งว่าแรงงานได้รับการปฏิบัติจากนายจ้างไม่ค่อยดีนัก
นายจ้างหญิงชาวฮ่องกงคนหนึ่งถูกตัดสินโทษจำคุก 6 ปีจากความผิดที่เธอทุบตีทำร้ายและบังคับให้แม่บ้านชาวอินโดฯของเธออดอาหาร และยังกักขังเธอเป็นนักโทษอีกด้วย ถือเป็นคดีฉาวที่ทำให้ผู้คนจดจำการทำร้ายแม่บ้านชาวต่างชาติในฮ่องกงได้
ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์เอง ก็มีปัญหาเรื่องแรงงานที่ไปทำงานเป็นแม่บ้านในต่างประเทศด้วยเช่นกัน ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เตเคยออกมาโวยคูเวตที่มีคดีนายจ้างสังหารแม่บ้านชาวฟิลิปปินส์แล้วนำชิ้นส่วนศพใส่ไว้ในตู้เย็น โดยเขาสั่งห้ามไม่ให้มีการส่งแรงงานไปคูเวตในทันที แต่ต่อมาก็ไกล่เกลี่ยประนีประนอมกันได้ โดยทางคูเวตยอมทำตามข้อเรียกร้องของผู้นำฟิลิปปินส์ที่ว่า ให้แรงงานสามารถพกหนังสือเดินทางติดตัวได้ตลอด และให้ใช้โทรศัพท์มือถือได้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ นายจ้างคูเวตจะยึดไว้ทั้งสองอย่าง เพื่อเป็นประกันไม่ให้พวกเธอหนีแม้จะถูกกระทำทารุณก็ตาม