ส่งออกไทย 10 เดือนดิ่งเหว
ส่งออกของไทย 10 เดือนติดลบ 5.32% หนักที่สุดในรอบปี ขณะที่เดือนต.ค.58 ส่งออกไทยติดลบ 8.11% สะท้อนให้เห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจของคู่ค้ายังต้องเผชิญกับความผันผวนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่พาณิชย์ยังยืนเป้าส่งออกปีนี้ ไทยติดลบเพียง 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน
เมื่อวันที่ 24 ต.ค.58 กระทรวงพาณิชย์ โดยนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ แถลงสถิติการนำเข้า และส่งออกของไทยในเดือนต.ค. และในช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ปรากฏว่า การส่งออกเดือนต.ค.2558 มีมูลค่าเพียง 18,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 8.11% เทียบกับเดือนต.ค.2557 ซึ่งเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 และติดลบหนักสุดในรอบปีนี้
ขณะที่การนำเข้าในเดือนต.ค.2558 มีมูลค่า 16,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 18.21% ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้าในเดือนต.ค.2558 มูลค่า 2,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
“การส่งออกช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) 2558 มีมูลค่า 180,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ, ลดลง 5.32% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา” รมว.พาณิชย์แถลงและยืนยันว่า เป้าหมายการส่งออกในปีนี้ ที่ติดลบ 2% คงไม่สามารถทำได้อีกต่อไป
ขณะที่การนำเข้าช่วง 10 เดือน มีมูลค่า 170,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 11.27% โดยไทยยังคงเกินดุลการค้าช่วง 10 เดือนมูลค่า 9,859 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
“สาเหตุการส่งออกเดือนต.ค. ที่ติดลบหนักสุดในรอบปีนี้ เกิดจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยจากการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดว่า การส่งออกของโลกทั้งปี 2558 จะหดตัวถึง 11.17% และปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2558 อยู่ที่ 3.1% เป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินในปี 2552 และเป็นระดับที่ต่ำกว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2557 ที่ขยายตัว 3.4%”
นอกจากนี้ รมว.พาณิชย์ ยังระบุว่า “สถานการณ์ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกหดตัวสูง ส่งผลให้การนำเข้าของทุกประเทศทั่วโลกหดตัว โดยเฉพาะการนำเข้าช่วง 9 เดือนของประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น ญี่ปุ่น นำเข้าลด 20.6% จีน ลด 18.8% ฝรั่งเศส ลด 17.3% เกาหลีใต้ ลด 16.6% สหรัฐฯ ลด 3.9%”
และที่สำคัญราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง และไม่มีแนวโน้มฟื้นตัว โดยเดือนต.ค.2558 ราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบลดลง 46.3% ส่งผลกระทบต่อมูลค่าส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันมีทิศทางลดลงต่อเนื่อง เช่น กลุ่มสินค้าน้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ และพลาสติก ราคาสินค้าเกษตรโลกปรับตัวลดลง โดยราคาข้าวลดลง 10.3% ยางพาราลดลง 19.8% และน้ำตาลลดลง 7.8%
แต่กระทรวงพาณิชย์ยังคงยืนยันเป้าหมายการส่งออกทั้งปี 2558 ติดลบ 3% ซึ่งการส่งออกในช่วง 2 เดือนสุดท้ายที่เหลือ คือ เดือนพ.ย.-ธ.ค. จะต้องได้อย่างต่ำเดือนละ 19,000-20,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ถึงจะเป็นไปตามเป้าหมาย หากดูตัวเลขการส่งออกในกลุ่มยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ยังขยายตัวได้ดีอยู่ ส่วนปี 2559 ยังไม่ได้ประเมินเป้าหมายการส่งออก เพราะกำลังอยู่ระหว่างการทำตัวเลขอยู่ แต่ยืนยันว่าการส่งออกในต้นปี 2559 ตัวเลขมีทิศทางดีขึ้นแน่นอน
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า การนำเข้าเดือนต.ค. กลับมาติดลบหนักถึง 18.21% โดยสินค้าที่ติดลบหนัก ได้แก่ เชื้อเพลิง ลดลง 51.93% สินค้าวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าขายในประเทศ และส่งออก ลดลง 21.28% เว้นสินค้าทุนยังมีการนำเข้า เพิ่มขึ้น 2.47% แต่เป็นการนำเข้าในกลุ่มเครื่องบินเครื่องร่อนอุปกรณ์การบิน และส่วนประกอบเพิ่ม 298% โดยการนำเข้าเครื่องจักร และส่วนประกอบ ลดลง 11.29% ส่วนกลุ่มยานพาหนะ และอุปกรณ์ขนส่งนำเข้าเพิ่ม 15.01% และอาวุธยุทธปัจจัย สินค้าอื่นๆ นำเข้าเพิ่ม 110%