ค่าเงินอินโดฯดิ่งสุดในรอบกว่า 20 ปี
ค่าเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียอ่อนค่าร่วงลงต่ำสุดต่อดอลลาร์สหรัฐฯในรอบกว่า 20 ปีเมื่อวันที่ 3 ก.ย. ทำให้ธนาคารกลางของอินโดนีเซียระบุว่าจะเข้าแทรกแซงค่าเงิน
โดยธนาคารกลางอินโดนีเซียแถลงเมื่อวันที่ 3 ก.ย.ว่าจะดำเนินการเข้าแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและตลาดพันธบัตร อ้างอิงจากรายงานของสื่อรอยเตอร์
เงินรูเปียห์อ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 14,777 รูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ถือเป็นการอ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2541 และร่วงลงถึง 8.93% นับตั้งแต่ต้นปีนี้ โดยในปีนี้ เงินรูเปียห์ติดอยู่ในกลุ่มสกุลเงินที่อ่อนค่ามากที่สุดในภูมิภาค ซึ่งนักวิเคราะห์ชี้ว่าการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เป็นผลกระทบมาจากวิกฤตเงินลีราของตุรกี
“ การที่ต่างประเทศถือพันธบัตรไว้เป็นจำนวนมาก ประกอบกับหนี้ของบริษัทอินโดฯ ที่เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินรูเปียห์อ่อนค่าลงอย่างน่ากังวล ” Vishnu Varathan หัวหน้านักเศรษฐกิจและนักวางกลยุทธ์ที่ธนาคารมิซูโฮ ชี้แจงกับสื่อ CNBC ทางอีเมล
อินโดนีเซีย ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีหนี้รัฐบาลประมาณ 41% ที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศ อ้างอิงจากสถาบันจัดอันดับเครดิตมูดีส์ หากเงินรูเปียห์อ่อนค่าลงอีก มูลค่าหนี้ก็จะเพิ่มจนแพงมากเกินที่จะจ่ายคืนได้
Varathan เตือนว่า “ หากเครดิตทำให้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในประเทศตลาดเกิดใหม่ และน้ำมันมีราคาเพิ่มขึ้นก่อนหน้าการคว่ำบาตรอิหร่าน จะมีความเสี่ยงที่ทำให้ค่าเงินรูเปียห์ร่วงต่ำได้ถึง 15,000 รูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ” เมื่อราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น ก็ยิ่งเพิ่มภาระของค่าใช้จ่ายในการนำเข้าน้ำมัน
ทั้งนี้ ธนาคารกลางมีหลายมาตรการเพื่อหนุนค่าเงิน ทั้งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 4 ครั้งนับตั้งแต่เดือนพ.ค.จนถึงครั้งล่าสุดในเดือนส.ค.และใช้เงินสดสำรองต่างประเทศเพื่อซื้อเงินรูเปียห์ นอกจากนี้ รัฐบาลยังควบคุมการนำเข้า เพื่อคงระดับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในปัจจุบัน ซึ่งเป็นมาตรวัดการไหลเข้าและออกจากประเทศของสินค้า บริการและการลงทุน การนำเข้าที่ลดลงช่วยลดความต้องการขายเงินรูเปียห์เพื่อซื้อเงินสกุลต่างประเทศ
Tuan Huynh ผอ.ฝ่ายการลงทุนในเอเชียแปซิฟิกของ Deutsche Bank Wealth Management ระบุในรายงานล่าสุดว่าการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของอินโดนีเซียทำให้ค่าเงินเข้าสู่ภาวะวิกฤต โดยเขาชี้ว่า ตัวเลขการขาดดุลเพิ่มเป็น 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นเดือนที่มีการขาดดุลมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.ปี 2556 เป็นต้นมา
นโยบายการเงินสำหรับช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้จะถูกขับเคลื่อนโดยความผันผวนและมูลค่าของเงินรูเปียห์ Huynh เสริม
“ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเป็นการทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น หรือทำให้ตัวเลขขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มมากขึ้นจากดีมานด์ในประเทศที่แข็งแกร่ง ”
แต่นักวิเคราะห์จาก DBS ระบุในเอกสารเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า คาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
“ จนถึงตอนนี้ ตลาดเห็นอินโดนีเซียทำงานอย่างหนักเพื่อคงเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค เช่น ปรับอัตราดอกเบี้ยเพื่อขจัดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและทำให้งบประมาณแข็งแกร่ง ”