ซูจีชี้ความสัมพันธ์กับกองทัพยังดี
เมื่อวันที่ 21 ส.ค.นางอองซาน ซูจี ผู้นำรัฐบาลเมียนมาระบุว่า ความสัมพันธ์ของเธอกับกองทัพไม่เลวร้าย และกับนายพลหลายคนในคณะรัฐมนตรีก็ยังคงมีความสัมพันธ์ที่ดีกันอยู่
อย่างไรก็ตาม ซูจี (ซึ่งที่ผ่านมาถูกวิจารณ์อย่างหนักจากความล้มเหลวของเธอ ที่ไม่สามารถคัดค้านการปราบปรามชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ของกองทัพอย่างรุนแรงได้) ระบุว่าเธอหวังว่า การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญจะช่วยควบคุมอิทธิพลของกองทัพเมียนมาได้
“ความสัมพันธ์ของเรากับทางกองทัพไม่ได้แย่ขนาดนั้น” เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพและผู้ปลุกให้ประชาธิปไตยของประเทศฟื้นขึ้นมาระบุ โดยเธอกล่าวในงานที่สิงคโปร์ กับคำถามที่ว่า เธอกลัวว่าจะมีการทำรัฐประหารอีกหรือไม่
“อย่าลืมว่า เรามีสมาชิกคณะรัฐมนตรีที่เป็นนายทหารถึง 3 นาย ระดับนายพล และพวกเขาก็ดีกับเรามาก”
ทั้งนี้ กองทัพปกครองประเทศเมียนมานานเกือบ 50 ปี หลังมีการทำรัฐประหารในปี 2505
กลุ่มนายพลหลายคนเริ่มการปฏิรูปประเทศ โดยมีการปล่อยตัวซูจีจากการควบคุมตัวที่บ้านของเธอในปลายปี 2553 เริ่มวางมือจากอำนาจและถอยกลับไปเป็นผู้สังเกตการณ์ ส่งมอบให้รัฐบาลของซูจีบริหารประเทศหลังพรรคการเมืองของเธอชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในปี 2558
อย่างไรก็ตาม ภายใต้รัฐธรรมนูญเดิม เธอไม่สามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเมียนมาได้ เพราะเธอมีสามีเป็นชาวต่างชาติ แสดงให้เห็นว่ากระบวนการเปลี่ยนผ่านทางประชาธิปไตยของเมียนมายังไม่สมบูรณ์
โดยซูจีไม่ได้เอ่ยถึงชาวมุสลิมโรฮิงญา มากกว่า 700,000 คนที่ต้องอพยพหนีจากรัฐยะไข่ ทางเหนือของเมียนมาข้ามพรมแดนไปบังคลาเทศ
หลังกองทัพเข้าปราบปรามอย่างรุนแรงเมื่อปีที่แล้ว โดยกองทัพเปิดฉากปราบปรามหลังกองทัพกู้ชาติโรฮิงญาแห่งอาระกัน (ซึ่งเมียนมามองว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย) โจมตีเจ้าหน้าที่เมียนมาก่อน และนางซูจีระบุว่า การก่อการร้ายเป็นภัยคุกคาม
“อันตรายจากการก่อการร้าย ซึ่งเป็นสาเหตุเริ่มแรกของเหตุการณ์ที่นำไปสู่วิกฤตมนุษยธรรมในรัฐยะไข่เป็นเรื่องจริง และยังมีอยู่ในทุกวันนี้”
“แม้จะมีการปราบปราม แต่ความเสี่ยงจากความรุนแรงของกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติยังคงมีอยู่ เป็นภัยคุกคามที่ก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิต ไม่เพียงแต่ในเมียนมาเท่านั้น แต่ยังเกิดกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคของเราด้วย” เธอกล่าว
ทั้งนี้ เมียนมาปฏิเสธคำกล่าวหาการปราบปรามชาวโรฮิงญาว่า เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และกล่าวโทษว่า ชาวโรฮิงญาเป็นผู้ก่อการร้าย
ซูจีย้ำถึงความยากลำบากที่กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มเล็กกลุ่มน้อยและกลุ่มต่างศาสนาอาศัยอยู่รวมกันในรัฐยะไข่
“ไม่ได้มีแค่ชาวมุสลิมในรัฐยะไข่อย่างที่คนส่วนใหญ่คิด มีคนฮินดูด้วย กลุ่มชาติพันธุ์เล็กๆหลายกลุ่ม และดิฉันอยากให้พวกคุณให้ความสนใจกับกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ เพราะพวกเขากำลังหายไปอย่างรวดเร็ว”
“พวกเขาอาศัยอยู่ในวิถีชีวิตดั้งเดิมของเขา เป็นกลุ่มคนสงบรักสันติ เราต้องทำทุกอย่างเท่าที่เราทำได้เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณีของพวกเขา และช่วยให้พวกเขามีความเจริญขึ้น” เธอกล่าว
สำหรับแผนการที่จะรับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากลับคืนสู่เมียนมา เธอระบุว่าเป็นเรื่องยากที่จะกำหนดกรอบเวลา โดยชี้ว่าเป็นความรับผิดชอบของบังคลาเทศที่จะเริ่มดำเนินการ
“ต้องมีการส่งตัวพวกเขาจากทางบังคลาเทศ เราทำได้แค่ต้อนรับพวกเขาที่พรมแดน คิดว่าบังคลาเทศจะเป็นฝ่ายตัดสินใจว่า ต้องการให้กระบวนการเสร็จสมบูรณ์เร็วแค่ไหน”.