อินโดฯขึ้นภาษีนำเข้าหลังค่าเงินร่วง
กระทรวงการคลังอินโดนีเซียระบุเมื่อวันที่ 14 ส.ค.ว่า รัฐบาลมีแผนจะใช้มาตรการแก้ไขที่เข้มงวดเพื่อควบคุมการนำเข้า เพื่อเป็นเครื่องมือให้รัฐบาลรับมือกับค่าเงินรูเปียห์ที่กำลังดิ่งร่วง
โดยรมว.กระทรวงการคลัง ศรี มุลยานี อินทราวาตีชี้แจงว่า จะมีการปรับขึ้นภาษี 7.5% กับสินค้านำเข้า เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค 500 รายการ ซึ่งครอบคลุมถึงสินค้าที่สั่งซื้อออนไลน์ด้วย เพื่อเป็นการควบคุมการนำเข้า
นอกจากนี้ เธอระบุว่าโครงการพลังงานของรัฐวิสาหกิจที่จำเป็นต้องมีการนำเข้าจำนวนมากจะถูกเลื่อนออกไปก่อน
“ ด้วยมาตรการนี้ เราหวังว่าจะสามารถควบคุมการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดให้ลดลงอย่างชัดเจน ” รมว.คลังกล่าวในการแถลงข่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเสร็จสิ้น
คำประกาศของเธอมีขึ้นหลังจากประธานาธิบดีโจโค วิโดโดกระตุ้นให้คณะรัฐมนตรีมีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและคงค่าเงินรูเปียห์ให้อยู่ในระดับที่สมเหตุผล
“ แม้เราเข้าใจว่า จะกระทบกับหลายภาคส่วน แต่มาตรการเพื่อเสถียรภาพเหล่านี้ จะช่วยคงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียให้สามารถเผชิญกับการรับรู้ของต่างชาติ ในสภาพของประเทศตลาดเกิดใหม่ที่กำลังผันผวน ” รมว.ศรี มุลยานีกล่าว
อินโดนีเซียมีความตึงเครียดขึ้นหลังมีรายงานเมื่อวันที่ 10 ส.ค.ว่า ตัวเลขขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้นเป็น 3% ต่อจีดีพีในไตรมาส 2 ซึ่งจัดว่าสูงที่สุดในรอบเกือบ 4 ปี
เมื่อวันที่ 13 ส.ค. ค่าเงินรูเปียห์ร่วงมากกว่า 1% แต่เมื่อวันที่ 14 ส.ค. เงินรูเปียห์กลับอ่อนค่าดิ่งลงไปมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.ปี 2558 อยู่ที่ 14,630 รูเปียห์ต่อดอลลาร์ ก่อนที่จะพื้นตัวขึ้นมาเล็กน้อย
ที่ผ่านมา ธนาคารกลางอินโดฯ ใช้เงินไปหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อปกป้องค่าเงินรูเปียห์ โดยทุนสำรองเงินตราต่างประเทศลดลงถึง 13,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเดือนก.พ.- ก.ค. จากการที่ธนาคารกลางพยายามหนุนให้ค่าเงินรูเปียห์มีเสถียรภาพ
นักวิเคราะห์มองว่า การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ตราบเท่าที่ประเทศยังสามารถดึงดูดเงินทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เข้ามา แต่อินโดฯพบว่ายังมีช่องว่างด้านการลงทุน เพราะยังไม่มี FDI มากพอ โดยเมื่อวันที่ 14 ส.ค. คณะกรรมการการลงทุนรายงานว่า FDI ในไตรมาส 2 ของอินโดฯ หดตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2560
Tom Lembong ประธานคณะกรรมการการลงทุนชี้แจงว่า มีการระงับโครงการเพราะนักลงทุนยังคงไม่แน่ใจในแนวโน้มด้านการเงินและการเมือง เนื่องจากอินโดฯจะมีการเลือกตั้งส.ส.ในสภาและประธานาธิบดีในปี 2562 นี้
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลประกาศแผนการใช้งานไบโอดีเซลที่กว้างขึ้นเริ่มตั้งแต่เดือนก.ย.เป็นต้นไป และเลื่อนโครงการโครงสร้างพื้นฐานจำนวนหนึ่งออกไปเพื่อเป็นการลดการนำเข้า
นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงพลังงาน อากุง ปรีบาดี ระบุว่า รัฐบาลกำลังร่างกฎหมายเพื่อควบคุมผู้รับสัมปทานน้ำมันในการขายผลผลิตน้ำมันดิบให้รัฐวิสาหกิจ Pertamina เพื่อช่วยพยุงค่าเงินรูเปียห์
โดยปัจจุบัน บริษัทผู้รับสัมปทานน้ำมันอย่าง Chevron และ Exxon Mobil แยกผลผลิตน้ำมันดิบกับรัฐบาล และได้รับอนุญาตให้ส่งออกในส่วนของบริษัทได้.