MRT อินโดฯสายแรกเริ่มวิ่งมี.ค.ปีหน้า
ระบบรถไฟใต้ดิน (MRT) สายแรกของอินโดนีเซียมีกำหนดจะเริ่มให้บริการได้ในเดือนมี.ค.ปีหน้า โดยสามารถขนส่งผู้โดยสารได้ถึง 170,000 คนต่อวัน ช่วยบรรเทาความหนาแน่นของการจราจรในอินโดนีเซียได้
เกือบ 95% ของเส้นทางความยาว 15.7 ก.ม.โดยมีถึง 13 สถานีตลอดเส้นทางเสร็จสมบูรณ์แล้วในเดือนมิ.ย.
โดย MRT ซึ่งเป็นกิจการที่ทางรัฐบาลเป็นเจ้าของระบุว่า จะเริ่มวิ่งทดสอบรอบแรกในเดือนส.ค.เพื่อให้แน่ใจว่า ระบบสัญญาณและห้องควบคุมทำงานได้อย่างถูกต้อง และหลังจากนี้จะมีการทดสอบการเดินรถแบบบูรณาการทั้งระบบในเดือนธ.ค.ปีนี้
โดยโครงข่ายของ MRT จะให้บริการผู้อยู่อาศัยในย่านที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นคือ เลบัคบุลุส ทางใต้ของกรุงจาการ์ตา ไปที่วงเวียน HI ในตัวเมืองซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารสำนักงานชั้นนำและโรงแรมระดับ 5 ดาว โดยบริการ MRT จะประกอบด้วยรถ 16 ขบวน และจะมีรถ 6 ขบวนวิ่งในชั่วโมงเร่งด่วนทุก 5 นาที และทุก 10 นาทีในช่วงเวลาอื่น
“บริการ MRT จะลดเวลาการเดินทางจากเลบัค บุลุสเข้าไปในตัวเมืองให้เหลือเพียง 30 นาทีจากตอนนี้ที่ต้องใช้เวลามากถึง 1 ชั่วโมงครึ่ง” วิลเลียม ซาบันดาร์ ประธานบริหาร MRT จาการ์ตาระบุ
โดยเขากล่าวกับผู้สื่อข่าว รวมทั้งสื่อซันเดย์ไทม์ ซึ่งได้ไปร่วมชมสถานีรถไฟใต้ดินในใจกลางเมืองเมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า
บริษัทผู้บริหาร MRT ยังมีข้อผูกพันที่จะต้องสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับโครงการ อย่างเช่น ร้านค้าในสถานีหลังจากการก่อสร้างของเครือข่าย ซึ่งส่วนใหญ่ได้ทุนสนับสนุนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศจากญี่ปุ่น เสร็จสมบูรณ์แล้ว
มีการสนับสนุนนักลงทุนภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการ โดยเฉพาะในการพัฒนาพื้นที่เพื่อการพาณิชย์และบริเวณใกล้เคียงสถานี คาดการณ์ว่าพวกเขาจะมีบทบาทในอนาคตเมื่อโครงข่ายขยายไปครอบคลุมบริเวณที่อยู่อาศัยของจาการ์ตา
ทาง MRT เสนอรัฐบาลว่า ค่าโดยสารควรอยู่ระหว่าง 3,000 – 12,000 รูเปียห์ บริษัทคาดการณ์ว่าผู้โดยสารส่วนใหญ่จะจ่ายค่าโดยสาร 8,500 รูเปียห์สำหรับการเดินทาง 10 ก.ม. แต่ยังไม่มีการตัดสินใจในขั้นสุดท้ายเรื่องค่าโดยสาร
วิลเลียมระบุว่า รัฐบาลของกรุงจาการ์ตาที่จ่ายเงินอุดหนุนจำนวนมากกับโครงข่ายรถไฟ สัญญาว่าจะช่วยเหลือด้านการเงินของ MRT เพื่อให้มีสภาพคล่อง
“ เรากำลังพยายามพูดคุยกับทางรัฐบาลเพื่อให้เราคิดค่าโดยสารในอัตราที่เราสามารถดำเนินการเพื่อธุรกิจ แต่ไม่ได้เป็นภาระที่หนักเกินไปสำหรับผู้โดยสาร หากค่าโดยสารต่ำเกินไป จะเป็นการยากสำหรับเราที่จะปรับขึ้นในอนาคต” วิลเลียมกล่าว
เขาเสริมว่า บริษัทยังต้องพึ่งพารายได้จากแหล่งอื่น เช่นจากโฆษณาและค่าเช่าร้านค้าปลีกเพื่อให้สามารถอยู่ได้อย่างมั่นคงในระยะยาว
นอกจากนี้ยังมีข้อตกลงที่จะปฏิบัติตามข้อกำหนดในการเชื่อมต่อ 50 อาคารสำนักงานและอาคารพาณิชย์กับพื้นที่สถานีใต้ดิน
ทั้งนี้ มีการศึกษาโครงการ MRT ในจาการ์ตาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2533 ในยุคของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต อย่างไรก็ตาม โครงการต้องเลื่อนล่าช้าเป็นผลมาจากวิกฤตการเงินในเอเชียช่วงปี 2540 – 2541 และการเจรจาที่ไม่เป็นผลระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น
โดยการเจรจาเพื่อเริ่มโครงการ สำเร็จลุล่วงในเดือนก.ย.ปี 2558.