ลาวยังมีปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ
ลาวยังคงเผชิญกับความท้าทายและอีกหลายประเด็นที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจมหภาค แม้จะมีตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าพอใจ อ้างอิงจากสื่อเวียงจันทน์ไทม์ที่รายงานโดยยกรายงานของรัฐบาลมาอ้างอิงในวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ความผันผวนของโครงสร้างเศรษฐกิจมหภาคยังคงสร้างความกังวลให้ลาว แม้ลาวจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในอาเซียน การเติบโตยังคงมีความเสี่ยงและไม่ยั่งยืน เนื่องจากภาคส่วนทรัพยากรยังคงโดดเด่นในโครงสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งไฟฟ้า และการก่อสร้างซึ่งเป็นกิจการที่ต้องใช้เงินทุนมากกว่าธุรกิจที่ใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก อ้างอิงจากรายงานของกระทรวงการลงทุนและวางแผนของลาว
งบประมาณของทางการลาวยังคงขาดสภาพคล่องเนื่องจากงบประมาณรายได้และรายจ่ายยังคงต่ำกว่าเป้าหมาย และสัดส่วนตัวเลขขาดดุลงบประมาณต่อตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพียังคงสูงอยู่
การควบคุมสินค้ายังคงอ่อนแรงและไม่เข้มงวดพอ แม้ทุนสำรองระหว่างประเทศจะเพิ่มขึ้น แต่ยังถือเป็นตัวเลขที่ต่ำอยู่มากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ มีอีกมากมายหลายประเด็นที่ยังคงต้องมีการแก้ไขเพื่อปรับปรุงบรรยากาศในการทำธุรกิจและส่งเสริมการลงทุนในด้านคุณภาพ
นอกจากนี้ ยังไม่มีความก้าวหน้าในส่วนพื้นฐานการผลิต ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มต่ำสุดจากการผลิตที่ไม่ใช่ภาคส่วนทรัพยากร และเป็นอุปสรรคในการเติบโตของการลงทุน หนี้สาธารณะยังคงเป็นข้อจำกัดสำหรับการลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในประเทศ รายงานระบุ
ในปีนี้ รัฐบาลลาวหาทางอัดฉีดเม็ดเงินมากกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 165,400 ล้านบาท เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพีจะเติบโตได้ถึง 7%
เศรษฐกิจมหภาคมีเสถียรภาพในช่วง 6 เดือนแรกและมีการเติบโตที่น่าพอใจ และตัวเลขประเมินการเติบโตอยู่ที่ 6.7% ซึ่งถือว่าสูงเมื่อเทียบกับตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ นายกรัฐมนตรีทองลุน สีสุลิดของลาวระบุในการประชุมสภาแห่งชาติในช่วงที่ 5 ของการประชุม
นอกจากนี้ ค่าเงิน อัตราการแลกเปลี่ยนและเงินเฟ้อมีการบริหารจัดการที่ดี โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2561 นี้ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 1.62% ลดลงจากเดิม 1.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว อ้างอิงจากข้อมูลของนายกฯลาว.