เมียนมาส่งออกเกษตรเพิ่ม 3 เท่าใน 6 ปี
ตัวเลขส่งออกผลิตผลทางการเกษตรของเมียนมาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรายได้จากพืชผลในท้องถิ่นทั้งผลไม้และผักที่ส่งออกไปประเทศอื่นเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าในระหว่างปี 2553 – 2559 U Hla Kyaw รมช.กระทรวงเกษตร ปศุสัตว์และชลประทานระบุ
ในปี 2559 รายได้โดยรวมจากการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรของเมียนมาสูงถึง 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 4,578 ล้านบาท เมื่อเทียบกับรายได้ 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1,798 ล้านบาทในปี 2553 เขากล่าวในงานการประชุมแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีหลังเก็บเกี่ยวพืชผลของ 3 ประเทศคือเมียนมา เกาหลีใต้และเวียดนามที่จัดขึ้นในกรุงเนปิดอว์เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.
“ ผลไม้อย่างแตงโม แคนตาลูป และมะม่วง รวมถึงเครื่องเทศอื่นๆ เช่น พริกแห้ง ขิง และลูกกระวานถูกส่งออกไปที่ตลาดจีนก่อน และมีการส่งออกงาและงาดำไปที่จีนและเกาหลี ขณะที่มีการส่งออกถั่วและธัญพืชอื่นๆ ไปอินเดียและยุโรป ” เขากล่าว
อย่างไรก็ตาม เขาชี้ว่าเกษตรกรในท้องถิ่นจำเป็นต้องมีการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ดีขึ้นกว่าเดิมเพื่อผลักดันให้มีประสิทธิภาพและการเติบโตเพิ่มขึ้น
“ อัตราของผลผลิตการเกษตรที่เสียหายไม่ได้คุณภาพมีสูงถึง 18 – 42% ” เขากล่าว
ความเสียหายส่วนใหญ่เกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งผลิตผลการเกษตรจากฟาร์มไปตลาด ดังนั้น จึงจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อช่วยให้สินค้าสดอยู่เสมอในระหว่างการลำเลียงขนส่ง นอกจากนี้ การบรรจุหีบห่อและการคมนาคมขนส่ง เช่น ตู้คอนเทนเนอร์แช่แข็ง ควรต้องมีการพิจารณากันอย่างจริงจัง
ปัจจุบัน มีศูนย์วิจัยเทคโนโลยีหลังเก็บเกี่ยวเพียง 2 แห่งเท่านั้นในเมียนมา โดยแห่งหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอยู่ใน Htonebo ขณะที่แห่งที่สองตั้งอยู่ในเนปิดอว์ โดยเพิ่งเปิดเมื่อเดือนพ.ค.ปีที่แล้ว ด้วยงบสนับสนุนจากเกาหลีใต้จำนวน 4.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
“ เราต้องมีการเข้าถึงเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อให้มีความเสียหายน้อยลง และเรามั่นใจในคุณภาพผลิตผลที่ดีขึ้น ดังนั้น การพัฒนาเทคโนโลยีในเรื่องนี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญมากในเมียนมา ” ดร.Hla Hla Myint รองผอ.ฝ่ายเกษตรกรรมระบุ
ความได้เปรียบอีกอย่างหนึ่งของเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวคือ ความสามารถในการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตผล “ เราส่งออกโภคภัณฑ์ดิบ แต่เราควรพยายามที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าของเราให้มากขึ้น ” U Yan Lin ประธานคณะกรรมการเกษตรกรรม ปศุสัตว์ หมู่บ้านและการพัฒนาเศรษฐกิจของ Pyithu Hluttaw ชี้แจง
รายได้ที่ดีขึ้นจากการส่งออกจะช่วยประเทศได้ในเวลาที่บัญชีเดินสะพัดขาดดุล ซึ่งในปัจจุบันคือ 5% ของจีดีพี เมื่อเทียบกับ 3.9% ในปีที่แล้ว
ในปี 2560 – 2561 ภาคเกษตรกรรมขยายตัว 3.5% เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่ดีขึ้น และการผลิต เกษตรกรรมมีสัดส่วนเป็น 1 ใน 3 ของจีดีพีของประเทศ.