สิงคโปร์รั้งที่ 3 โลกจากการแข่งขันด้านศก.
สิงคโปร์ยังคงอยู่ในอันดับ 3 ของโลกในด้านความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจสูงสุด จากการจัดอันดับประจำปีที่มีการเผยแพร่เมื่อวันที่ 24 พ.ค.โดยกลุ่มวิจัย IMD World Competitiveness Centre ที่มีสำนักงานอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์
โดยสหรัฐฯรั้งอันดับ 1 ของโลก คะแนนที่ได้สูงมาจากหัวข้อผลประกอบการทางเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน สหรัฐฯ ขยายตัวก้าวกระโดดขึ้นมาจากอันดับ 4 ในการจัดอันดับปีที่แล้ว เบียดแซงฮ่องกงให้ตกมาเป็นอันดับ 2 จากที่ฮ่องกงเคยนำเป็นอันดับ 1 ในปีก่อน
ลำดับต่อมาที่อยู่ใน 5 อันดับแรกคือ เนเธอร์แลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์ โดยเนเธอร์แลนด์ขยับขึ้นมาหนึ่งอันดับจากคะแนนที่สมดุลในทุกประเภท ขณะที่สวิตเซอร์แลนด์ร่วงลงมาถึง 3 อันดับมาอยู่ในอันดับ 5 เนื่องจากการส่งออกชะลอตัวลงท่ามกลางหลายปัจจัย
ศ.Arturo Bris ผู้อำนวยการ IMD World Competitiveness Centre อธิบายว่า การจัดอันดับทางเศรษฐกิจมีคะแนนที่สูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยในทุกปัจจัยของความสามารถในการแข่งขัน แม้ส่วนผสมของความสามารถในการแข่งขันจะแตกต่างกัน
“ ตัวอย่างเช่น บริษัทของเราอาจสร้างกลยุทธ์ของความสามารถในการแข่งขันรอบด้านทุกมุม อย่างเช่น โครงสร้างพื้นฐานที่ชัดเจนจับต้องได้ ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้มีความสามารถในการแข่งขันผ่านประสิทธิภาพของหน่วยงานภาครัฐ ” เขาเสริม
ในกรณีของสิงคโปร์ ประสิทธิภาพของคณะรัฐบาลยังคงเป็นสินทรัพย์ที่มีค่ามากที่สุด
อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์ยังคงมีความท้าทายสำคัญคือระดับหนี้สูงของภาคเอกชนในเศรษฐกิจและราคาอสังหาริมทรัพย์ที่แพง เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อคุณภาพชีวิตและการดึงดูดใจคนเก่ง
“ เมื่อเราพูดถึงความสามารถในการแข่งขัน เรากำลังพูดถึงคุณภาพชีวิตด้วยราคาอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก สิงคโปร์ยังคงเป็นประเทศที่ทุกอย่างมีราคาแพง ” ศ.Bris กล่าว
รายงานยังชี้ถึงความท้าทายอื่นๆ ซึ่งรวมถึงการเสริมสร้างศักยภาพของบริษัทให้แข็งแกร่งเพื่อสร้างนวัตกรรม เพิ่มผลผลิตและความเป็นสากล รวมถึงปรับปรุงระบบการทำงานในทักษะที่เกี่ยวข้องเพื่อคว้าโอกาสใหม่ๆ
ทั่วทั้งเอเชีย มีประเทศที่ติดอันดับด้านความสามารถในการแข่งขันมากถึง 63 ประเทศจาก 258 ตัวบ่งชี้
ขณะที่จีน (อันดับ 13) ญี่ปุ่น (25) เกาหลีใต้ (27) มาเลเซีย (22) อินเดีย (44) เห็นการพัฒนาที่ดีขึ้น แต่อันดับของไต้หวัน (17) ประเทศไทย (30) และอินโดนีเซีย (43) กลับลดลง
ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์มีการดิ่งร่วงลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค คือลดลงมาถึง 9 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 50 จากตัวเลขที่ลดลงของการท่องเที่ยวและการจ้างงาน การเงินภาครัฐที่ย่ำแย่ลง และความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับระบบการศึกษา
แต่ ศ.Bris ระบุว่า “ นี่ไม่ได้หมายความว่าเอเชียมีความสามารถในการแข่งขันน้อยลง แต่เป็นแค่บางประเทศที่ขยับลงมาเร็วกว่าเท่านั้น ”
กลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก เช่นโปแลนด์ (34) สโลเวเนีย (37) และฮังการี (47) มีการพัฒนาขึ้นอย่างน้อย 4 อันดับจากการจัดอันดับในปีนี้
ขณะที่กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เกือบทุกประเทศแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการที่ดีขึ้นแม้จะมีความตึงเครียดทางการเมืองเพิ่มขึ้นก็ตาม อย่างเช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่ขยับขึ้นมา 3 อันดับกลายเป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันเป็นอันดับ 7 ของโลก.