ประธานาธิบดีเมียนมาประกาศลาออก
นายอูถิ่นจอ ประธานาธิบดีเมียนมาที่เป็นพลเมืองประกาศลาออกโดยมีผลในทันทีเพื่อพักจากหน้าที่และความรับผิดชอบในปัจจุบัน ทำเนียบประธานาธิบดีระบุในแถลงการณ์ที่โพสต์บนเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา
โดยนายอูถิ่นจอเป็นเพื่อนสนิทและพันธมิตรผู้ใกล้ชิดกับนางอองซาน ซูจี ผู้นำตัวจริงของประเทศเมียนมา นางซูจีเลือกเขาให้ลงเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี เพราะในรัฐธรรมนูญที่ร่างในสมัยรัฐบาลทหารกีดกันเธอไม่ให้ขึ้นเป็นผู้นำประเทศเนื่องจากเธอมีคู่สมรสและบุตรเป็นชาวต่างชาติ
ทั้งนี้ สื่อเมียนมาเคยมีการคาดเดาว่า ประธานาธิบดีอูถิ่นจอมีสุขภาพไม่ค่อยดีมานานหลายเดือน แต่ได้รับการปฏิเสธจากทางการ
ทำเนียบประธานาธิบดีระบุว่า “ อ้างอิงจากรัฐธรรมนูญของเมียนมามาตรา 73 โดยจะมีกระบวนการคัดสรรประธานาธิบดีคนใหม่มาแทนตำแหน่งที่ว่างลงภายใน 7 วันทำการ ”
บทบาทของอูถิ่นจอได้รับการยอมรับอย่างยิ่งใหญ่จากนางซูจี ที่ต้องเลี่ยงให้ตำแหน่งตัวเองเป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐแทน แต่ที่จริงแล้ว เขาไม่ได้เป็นผู้นำประเทศอย่างแท้จริง ขณะนี้ ยังไม่มีตัวเลือกที่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะรับตำแหน่งประธานาธิบดีทดแทนเขาได้ทันที อ้างอิงจากรัฐธรรมนูญ รองประธานาธิบดีมินท์ส่วย จะทำหน้าที่แทนเขาจนกว่าจะมีการเลือกประธานาธิบดีคนใหม่
ถื่นจอ ซึ่งเป็นประธานาธิบดีพลเรือนคนแรกของเมียนมานับตั้งแต่ปี 2505 เป็นต้นมา ได้รับการเคารพอย่างกว้างขวาง และเป็นผู้ที่จงรักภักดีต่อนางซูจี ซึ่งกล่าวได้ว่า เธอมีอำนาจเหนือเขาหลังจากเขาชนะการเลือกตั้งในปี 2559
เขายืนหยัดอยู่เคียงข้างนางซูจีอย่างหนักแน่นมั่นคง ถึงแม้ชื่อเสียงของเธอจะเสียหายในระดับนานาชาติจากการที่ไม่เป็นปากเสียงให้กับกลุ่มชาวมุสลิมโรฮิงญา
การปราบปรามของกองทัพเมียนมาอย่างรุนแรงทำให้ชาวโรฮิงญากว่า 700,000 คนต้องอพยพลี้ภัยข้ามพรมแดนไปบังคลาเทศ ซึ่งสหประชาชาติเรียกว่าเป็นการกวาดล้างเผ่าพันธุ์ โดยมีความเป็นไปได้ที่อาจเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ด้วยซ้ำ
กองทัพระบุว่า การปราบปรามเป็นการตอบโต้กลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญาที่บุกมาทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ป้อมในเดือนส.ค.ปีที่แล้ว
ทั้งนี้ รัฐบาลพลเรือนของเมียนมากำลังอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านอำนาจ มีการแบ่งส่วนการบริหารจัดการกับทางกองทัพ ซึ่งยังคงมีอำนาจทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ
โดยกองทัพควบคุม 3 กระทรวงสำคัญ คือกระทรวงมหาดไทย พรมแดน และกลาโหม นอกจากนี้ กองทัพยังมีที่นั่งในสภาถึง 1 ใน 4 ทำให้กองทัพสามารถโหวตค้านคว่ำการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญได้
กลุ่มผู้สนับสนุนนางซูจีระบุว่า มือของรัฐบาลถูกมัดติดกับกองทัพ แต่นักวิจารณ์มองว่า รัฐบาลสามารถทำได้และควรทำมากกว่านี้เพื่อคัดค้านการกระทำของกองทัพ โดยเฉพาะในรัฐยะไข่
นายถิ่นจอเป็นลูกของกวีที่มีชื่อเสียงที่ได้รับการยอมรับ และช่วยดูแลมูลนิธิเพื่อการกุศลของนางซูจีก่อนที่จะได้รับตำแหน่งประธานาธิบดี
จากประวัติส่วนตัวของเขา ถิ่นจอเคยศึกษาด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยลอนดอนในปี 2514 – 2515
ทั้งนี้ เขาเคยทำมาหลายอาชีพ โดยเคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย และมีตำแหน่งทั้งด้านการเงิน และกระทรวงต่างประเทศตามแผนพัฒนาแห่งชาติในช่วงปี 2513 – 2523 ก่อนที่จะเกษียณอายุเนื่องจากทางกองทัพกระชับอำนาจ.