ดูเตอร์เตถอนฟิลิปปินส์จากศาลโลก
เมื่อวันที่ 14 มี..ค.ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต เริ่มกระบวนการเพื่อถอนฟิลิปปินส์ออกจากสนธิสัญญาสหประชาชาติที่สร้างศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ขึ้นมา เพื่อรับมือกับกลุ่มสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติที่กล่าวหาว่า เขาละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างโหดเหี้ยมและเลือดเย็น
ผู้นำฟิลิปปินส์ระบุในแถลงการณ์ว่า ข้อกล่าวหานี้เป็นการโจมตีเขาอย่างไม่มีมูลความจริง และรุนแรง ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน โดยเขากำลังดำเนินการถอนฟิลิปปินส์จากการให้สัตยาบันในธรรมนูญกรุงโรม
ในปี 2541 มี 123 ประเทศที่รับรองและลงนามในการประชุมที่กรุงโรม ซึ่งเป็นสนธิสัญญาในการจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ และมีอำนาจในการตัดสินคดีเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และอาชญากรรมสงคราม โดยฟิลิปปินส์ลงนามในธรรมนูญกรุงโรมเมื่อปี 2543 และให้สัตยาบันและรับรองอย่างเป็นทางการในปี 2554
Florin Hilbay อดีตรองอธิบดีกรมอัยการกล่าวว่า จะต้องใช้เวลาถึงหนึ่งปีนับจากวันที่ประธานาธิบดีดูเตอร์เตยื่นคำร้องต่อศาลโลก ก่อนที่ฟิลิปปินส์จะได้รับการพิจารณาให้ถอนตัวในฐานะผู้ลงนาม โดยเขาเสริมว่า การถอนตัวจากศาลโลกจะไม่อาจหยุดคดีที่ถูกยื่นต่อศาลโดยสมาชิกสภาฟิลิปปินส์และทนายความ ซึ่งกล่าวหาว่า ประธานาธิบดีดูเตอร์เตได้ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติด้วยการวิสามัญฆาตกรรม
ในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ศาลโลกเริ่มการสอบสวนเบื้องต้นในคดีการปราบปรามยาเสพติดซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 5,000 ราย ในปฏิบัติการปราบปรามของเจ้าหน้าที่ นับตั้งแต่ประธานาธิบดีดูเตอร์เตเข้ารับตำแหน่งในช่วงกลางเดือนมิ.ย.ปี 2559 อ้างอิงจากข้อมูลของตำรวจ
แต่นักเคลื่อนไหวกลุ่มสิทธิยืนยันว่า มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 20,000 รายในสงครามปราบยาเสพติดอย่างโหดร้ายรุนแรง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในย่านที่มีคนยากจนที่สุดอาศัยอยู่ เชื่อว่าเหยื่อ 2 ใน 3 ถูกสังหารโดยนักฆ่ามืออาชีพที่มีตำรวจอยู่เบื้องหลัง
ในแถลงการณ์ที่เผยแพร่โดยหัวหน้าที่ปรึกษาของเขาเมื่อวันที่ 14 มี.ค.ประธานาธิบดีดูเตอร์เตระบุว่า การสังหารพ่อค้ายาไม่ใช่ ‘อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ’ หรือแม้แต่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรืออาชญากรรมสงคราม
“การเสียชีวิตเกิดขึ้นในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของตำรวจ โดยไม่มีเจตนาที่จะฆ่า” ผู้นำฟิลิปปินส์ระบุ
โดยเขามองว่า นี่เป็นผลลัพธ์จากการปกป้องตัวเองของเจ้าหน้าที่ตำรวจ “เป็นสถานการณ์ที่มีเหตุผลอันสมควรภายใต้กฎหมายอาญาของเรา” ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีดูเตอร์เตยืนยันว่า ศาลโลกขาดอำนาจที่จะพิพากษาเขา
เมื่อวันที่ 14 มี.ค.เขายังได้พูดอย่างกราดเกรี้ยวถึง น.ส. Agnes Callamard ผู้เสนอรายงานพิเศษของสหประชาชาติ และ นาย Zeid Ra’ad al-Hussen ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่มีความเห็นที่มีอคติเกี่ยวกับเขา
ทั้งนี้ น.ส.Callamard เป็นผู้นำในการสอบสวนของยูเอ็นเกี่ยวกับการวิสามัญฆาตกรรมในฟิลิปปินส์ และอ้างว่าดูเตอร์เตพยายามที่จะข่มขู่เธอและคณะทำงานของเธอ ขณะที่ Zeid กล่าวว่า ดูเตอร์เตควรได้รับการประเมินสุขภาพจิต เพราะเขาเรียก Callamard ว่า คนขาดอาหาร และวิจารณ์ Fatou Bensouda อัยการของศาลโลกว่า ‘หญิงผิวดำ’
“เห็นได้ชัดว่า มีการใช้ศาลโลกเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อทำลายฟิลิปปินส์” ดูเตอร์เตกล่าว.