ส่อล่มลดภาษีเงินได้บุคคลฯ10%
ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10% ส่อแววล่ม! หลัง “ขุนคลัง” อ้างไม่ทันอธิบาย เหตุช่วงหาเสียงมีเวลาน้อย ด้านสรรพากรแจงรายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 4 แสนล้านบาท มาจากคนรวยแค่ 3% จากทั้งหมด 10.7 ล้านคน เทเงินภาษีมากถึง 72% หากลดจริงโดน 2 เด้ง ทั้งรายได้หดและเพิ่มความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง พร้อมด้วย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง เดินทางมาตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้กรมสรรพากร โดยมี นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง และนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส อธิบดีกรมสรรพากร คอยให้การต้อนรับ ณ กรมสรรพากร เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา
นายอุตตมกล่าวว่า ตนและนายสันติ มาเพื่อพูดคุยและหารือถึงการดำเนินงานร่วมกับกรมสรรพากร พร้อมรับฟังการรายงานผลการดำเนินงาน โดยกรมสรรพากรยังคงจัดเก็บรายได้เกินกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ถึงกว่า 40,000 ล้านบาท คาดว่าการจัดเก็บรายได้ทั้งปีจะเป็นไปตามประมาณการที่ตั้งไว้ 2 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพกากร มีผลต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งในแง่ของการนำไปลงทุนโครงการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการลงทุนด้าน Digital Infrastructure และการดูแลประชาชน
พร้อมกั้นนี้ ยังขอให้กรมสรรพากรดูแลในเรื่อง Big Data เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์ที่เรียกว่า Data Analytic เพื่อการขยายฐานภาษีและลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งในมิติเชิงลึกและเชิงกว้าง รวมถึงนำ Blockchain มาใช้อย่างจริงจัง ซึ่งทำให้กรมสรรพากรเป็นองค์กรแรกๆ ที่สามารถนำ Blockchain ไปใช้ปฏิบัติได้จริง และจะทำให้ประเทศไทยมุ่งสู่ความเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลได้ในอนาคตอันใกล้
ในส่วนของนโยบายภาษีที่เกี่ยวข้องกับ e-Bisisness หรือการจัดเก็บภาษีจากธุรกรรมออนไลน์ (อีคอมเมิร์ช) นั้น กระทรวงการคลังพร้อมสนับสนุนให้กรมสรรพากร ดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อให้กฎหมายฉบับนี้ ผ่านออกมาใช้งานโดยเร็ว และสะท้อนความเป็นกฎหมายที่มีการปฏิบัติเป็นสากล นอกจากนี้ ยังให้กรมสรรพากรประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ไปพร้อมกัน
อีกทั้ง กรมสรรพากรยังเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าร่วมพัฒนานวัตกรรมในมิติต่างๆ ผ่านการใช้ Digital Technology ในโครงการที่เรียกว่าเป็น Hagatax เพื่อให้คนรุ่นใหม่ที่มีองค์ความรู้ด้าน Digital Technology มาร่วมยกระดับการทำงานกับเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร ทั้งในแง่ของการจัดเก็บรายได้และการให้บริการประชาชน พร้อมกันนี้ ยังขอให้กรมสรรพากรต่อยอดโครงการเพื่อให้เกิดความยึดโยงกับหน่วยงานอื่นๆ ในการส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการ StartUp อย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมจะให้การส่งเสริมและสนับสนุนอย่างจริงจังและทำทั่วประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง
ด้านนโยบายลดภาษีเงินได้นิติบุคคล 10% รวมถึงยกเว้นภาษีให้กับผู้ค้าในกลุ่มอีคอมเมิร์ชนั้น รมว.คลังย้ำว่า มอบหมายให้กรมสรรพากร กลับไปคิดอย่างเป็นระบบและครบวงจร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมให้มากที่สุด โดยให้ปลัดกระทรวงการคลังเป็นหัวหน้าทีมในการพิจารณาครั้งนี้
“ตอนหาเสียงเลือกตั้ง ผมมีเวลาน้อยเกินกว่าจะอธิบายรายละเอียดในการปรับลดอัตราภาษีได้ ซึ่งการจะปรับลดภาษีหรือไม่ ต้องขึ้นกับการพิจารณาและข้อเสนอของกรมสรรพากร รวมถึงการปรับโครงสร้างภาษีอื่นๆ ทั้งระบบด้วย” นายอุตตมย้ำ
ด้านนายเอกนิติกล่าวว่า ปัจจุบัน กรมสรรพากรจัดเก็บรายได้ภาษีในส่วนที่เป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ราว 4 แสนล้านบาท หรือราว 17% ของการจัดเก็บรายได้ 2 ล้านล้านบาท จากฐานผู้เสียภาษีราว 10.7 ล้านคน ซึ่งในจำนวนดังกล่าว มีผู้เสียภาษีจริงเนื่องจากหักค่าลดหย่อนแล้วยังต้องเสียภาษีอีก แค่ 3% เท่านั้น และเม็ดเงินที่ได้จากคนกลุ่มนี้สูงถึง 72% ของเม็ดเงินรายได้ 4 แสนล้านบาท ทั้งนี้ หากมีการปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามากเกินไป เกรงจะส่งผลกระทบทั้งในเรื่องการจัดเก็บรายได้และปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม
สำหรับการจัดเก็บภาษี e-Bisisness ขณะนี้ มีผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และเล็กหลายราย ติดต่อเข้ามาพูดคุยกับกรมสรรพากรบ้างแล้ว แม้ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการจัดเก็บภาษี เนื่องจากไม่สามารถจัดเก็บเงินได้นิติบุคคล เนื่องจากธุรกิจเหล่านั้น ส่วนใหญ่อยู่นอกประเทศ อย่างไรก็ตาม กรมสรรพากรกำลังศึกษาการจัดเก็บภาษีธุรกิจอีคอมเมิร์ชของประเทศฝรั่งเศส ที่ใช้ระบบภาษี Digital Tax Service ที่อัตรา 3% ซึ่งถือเป็นมาตรฐานที่ OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ) ยอมรับได้ ทั้งนี้ คาดว่า ระบบภาษี Digital Tax Service จะสามารถนำมาใช้ได้ราวต้นปี 63