ตายเพิ่มกว่าร้อยในสงครามยาเสพติด”ปินส์”
ผู้ต้องสงสัยในคดียาเสพติดมากกว่า 100 คนถูกยิงวิสามัญ หลังจากประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เตสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับเข้าร่วมในปฏิบัติการสงครามปราบยาเสพติดอีกครั้ง อ้างอิงจากรายงานของเจ้าหน้าที่เมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ประธานาธิบดีดูเตอร์เตชนะการเลือกตั้งในปี 2559 จากคำสัญญาที่จะกำจัดยาเสพติดให้หมดไปจากฟิลิปปินส์ และเริ่มดำเนินการตามแคมเปญในช่วงหาเสียง ซึ่งเป็นปฏิบัติการที่นักเคลื่อนไหวกลุ่มสิทธิประเมินว่า มีผู้ถูกสังหารไปประมาณ 12,000 คนแล้วจากปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติดที่รุนแรงของผู้นำฟิลิปปินส์
ผู้กำกับการ John Bulalacao ยืนยันว่า มีผู้ต้องสงสัยคดีค้ายาเสพติดที่ถูกตำรวจวิสามัญจนเสียชีวิต 102 คน ตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค.ปี 2560 จนถึง 1 มี.ค.ปีนี้ หลังจากประธานาธิบดีดูเตอร์เตมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าร่วมทำหน้าที่ในการปราบปรามยาเสพติดอีกครั้ง
ในเดือนต.ค.ปีที่แล้ว ประธานาธิบดีดูเตอร์เตประกาศว่า สำนักงานปราบปรามยาเสพติดฟิลิปปินส์จะให้ตำรวจเข้าปฏิบัติหน้าที่ในการปราบยาเสพติดอีกครั้ง หลังจากมีการคัดค้านจากสาธารณชน ซึ่งรวมถึงการชุมนุมประท้วงบนถนนซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก
แต่ดูเตอร์เต วัย 72 ปี กล่าวซ้ำๆ ว่า สำนักงานปราบปรามยาเสพติดซึ่งมีเจ้าหน้าที่จำนวนน้อย เพียงแค่ประมาณ 2,000 นาย ไม่เพียงพอที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ในที่สุด เขาต้องสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับเข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการปราบปรามยาเสพติดอีกครั้ง โดยไม่มีการปฏิรูปครั้งสำคัญเกิดขึ้นในองค์กรตำรวจแต่อย่างใด
โดยทาง Bulalacao ไม่ได้ให้ตัวเลขเปรียบเทียบกับจำนวนผู้เสียชีวิตก่อนวันที่ 5 ธ.ค.ปีที่แล้ว แต่อ้างอิงจากตัวเลขของรัฐบาลที่เผยแพร่ออกมาคือ มีผู้ค้ายาเสพติด 4,201 รายที่ถูกวิสามัญในระหว่างเดือนมิ.ย.ปี 2559 ( เมื่อดูเตอร์เตเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี) จนถึงวันที่ 8 ก.พ.ปีนี้
นักเคลื่อนไหวประเมินว่า มีผู้ถูกวิสามัญไปประมาณ 12,000 คนในสงครามปราบยาเสพติด หลายคนถูกสังหารด้วยวิธีการแบบศาลเตี้ย และเตือนว่า สิ่งที่ประธานาธิบดีดูเตอร์เตทำอาจถูกจัดว่าเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
ช่วงเดือนก.พ. อัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศระบุว่า เธอได้เปิดการสอบสวนเบื้องต้น ในกรณีการทารุณกรรมอย่างผิดกฎหมาย ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา รัฐบาลฟิลิปปินส์แถลงว่า มีเจตนาที่จะให้ เจ้าหน้าที่พิเศษของสหประชาชาติเข้ามาในประเทศเพื่อตรวจสอบข้อกล่าวหา
แต่รัฐมนตรีต่างประเทศเรียกร้องหาความยุติธรรมในกระบวนการสอบสวน และประธานาธิบดีได้แจ้งกับตำรวจและทหารว่า ไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่จากสหประชาชาติ
“ถ้าพวกเขาขอให้พวกคุณทำผิด อย่าตอบ และถ้าพวกเขาถามคุณว่าทำไม บอกพวกเขาว่า เรามีผู้บัญชาการทหาร” ดูเตอร์เตชี้แจงกับตำรวจและทหารในวันที่ 1 มี.ค.
เมื่อถูกถามในประเด็นนี้ Bulalacao กล่าวว่า หากเจ้าหน้าที่สอบสวนระหว่างประเทศเข้าถึงตำรวจ “ เราควรเอ่ยถึงประเด็นนี้กับหน่วยงานที่สูงกว่านี้” .