โจโควี่ขอคำแนะนำจากเวิลด์แบงก์
ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด หรือ โจโควี่ แห่งอินโดนีเซียขอคำแนะนำและความคิดเห็นจากธนาคารโลกเพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาแนวทางการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
“ เราถามเกี่ยวกับแนวโน้มทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย จุดอ่อนของเรา และเราจะปรับปรุงให้ดีขึ้นได้อย่างไร นี่เป็นเรื่องสำคัญในการแก้ไขข้อบกพร่องทั้งหมดของประเทศเรา ” โจโควี่กล่าวที่พระราชวังโบกอร์ในชวาตะวันตก หลังจากมีการประชุมกับนายโรดริโก ชาเวส ผู้แทนจากธนาคารโลกประจำอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 21 พ.ย.จากรายงานข่าวใน tribunes.com
โดยผู้นำอินโดนีเซียกล่าวว่า คำแนะนำและข้อมูลจากหลากหลายสถาบัน รวมทั้งจากธนาคารโลก จะช่วยให้คณะรัฐบาลของเขาปรับปรุงนโยบายและโครงการที่แตกต่างหลากหลาย
หลังจากเสร็จสิ้นการประชุม นายชาเวสกล่าวว่า ผู้แทนจากธนาคารโลกได้พูดคุยกันในรายละเอียดเกี่ยวกับเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจทั่วโลกกับประธานาธิบดีโจโควี่ และเรียกร้องให้รัฐบาลอินโดนีเซียปรับปรุงในด้านคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ของอินโดนีเซียเป็นหลัก
โดยเขาระบุว่า ทรัพยากรมนุษย์จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ และช่วยเร่งการขยายตัวเติบโตทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศ
ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจโควี่ให้ความสำคัญกับโรงเรียนอาชีวะและการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ และคณะรัฐบาลของเขาให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นลำดับที่ 2 รองจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
ผู้นำอินโดนีเซียยังได้วิจารณ์มหาวิทยาลัย โดยเฉพาะคณะที่สอนเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ที่ไม่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมในฐานะเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงโลก
“ คณะเศรษฐศาสตร์ของประเทศเราเพียงแค่เปิดสอนในสาขาวิชาที่จำกัด เช่น การบัญชี การจัดการ และการพัฒนาเศรษฐกิจ ขณะที่โลกได้เปลี่ยนแปลงไปถึงไหนแล้ว ” เขาให้ความเห็น
ทั้งนี้ ธนาคารกลางอินโดนีเซียรายงานข้อมูลอัพเดตประจำเดือนเกี่ยวกับหนี้ต่างประเทศที่ก่อให้เกิดการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการวิจารณ์โจมตีจำนวนหนี้ภาครัฐที่เพิ่มขึ้น และหนี้ต่างประเทศของธนาคารกลางในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
โดยข้อมูลล่าสุดที่เผยแพร่โดยธนาคารกลางอินโดนีเซียเมื่อสัปดาห์ที่แล้วแสดงให้เห็นว่า หนี้ต่างประเทศสะสมของอินโดนีเซียอยู่ที่ 343,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 11.32 ล้านล้านบาทในเดือนก.ย. เพิ่มขึ้นถึง 46,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 3 ปีของการบริหารงานของประธานาธิบดีโจโควี่ โดยประมาณ 176,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 51% ของทั้งหมด เป็นหนี้ของรัฐบาลและธนาคารกลาง และอีก 167,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นหนี้ของภาคเอกชน.