เมียนมาเริ่มพัฒนาลุ่มน้ำอิรวดี
เมียนมาอยู่ระหว่างเร่งร่างแผนแม่บทบูรณาการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำอิรวดี กำหนดระยะเวลาร่างแผนแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2020 หรือ พ.ศ. 2563 พร้อมเดินหน้าพัฒนาทุกด้าน บนเงื่อนไขพัฒนาการควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สภาพแวดล้อม
โครงการใหญ่ของรัฐบาลเมียนมา ซึ่งอยู่ระหว่างเร่งศึกษาผลกระทบทุกด้าน ได้รับการอนุมัติตั้งแต่ช่วงเดือนพ.ย.ปี 2559 คือ โครงการจัดการบูรณาการพื้นที่ลุ่มน้ำอิรวดี — Ayeyawaddy Integrated River Basin Management — AIRBM ระยะเวลาการศึกษาผลกระทบเขียนแผนแม่บทนาน 5 ปี ด้วยทุนเงินกู้จากธนาคารโลก 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขั้นตอนการเขียนร่างแผนแม่บทจำเป็นต้องศึกษาผลกระทบทุกด้าน รวมถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อชุมชนตามแนวเส้นทางแม่น้ำยาวราว 1,200 กม. จากความยาวแม่น้ำทั้งสายราว 2,210 กม. ถือเป็นแม่น้ำสายสำคัญและยาวที่สุดของประเทศ โดยกำหนดเขียนแม่บทให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2563
ส่วนหนึ่งของการศึกษาผลกระทบเบื้องต้นคือ การสำรวจจัดการปัญหาผลกระทบเรื่องผิวน้ำ แหล่งน้ำใต้ดิน ระดับความเค็ม สภาพทางธรณีวิทยา สภาพสิ่งแวดล้อมทางน้ำและทางบก รวมถึงผลกระทบชุมชนริมฝั่งน้ำ ต้องได้รับการวิจัยตรวจสอบผลกระทบทั้งหมด โดยใช้ผู้เชี่ยวชาญมากกว่า 70 คน รวมถึงเจ้าหน้าที่จากต่างชาติและจากองค์กรไม่แสวงผลกำไรอีก 25 หน่วยงาน
ขั้นตอนล่าสุดรัฐบาลเมียนมาได้พบหารือกับแกนนำชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำอิรวดีแล้ว 14 แห่ง พบปัญหาใหญ่ที่สุดคือ ความยากจน ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องการการพัฒนาและสร้างรายได้ ขณะที่การกำหนดพื้นที่เขตอุตสาหกรรมและการลงทุนตามแนวแม่น้ำต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเช่นอดีตที่ผ่านมา มีการปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำอย่างมากมายขาดการควบคุม ก่อให้เกิดการปนเปื้อนของสารพิษมากมาย ตั้งแต่สารตะกั่ว สารปรอท รวมถึงสารพิษไซยาไนด์ ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมเหมืองทอง ปัญหาเหล่านี้ต้องได้รับการแก้ไขและป้องกันปัญหาอย่างเป็นระบบตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก นอกเหนือจากการศึกษาผลกระทบทางสังคมตามมาจากพัฒนาการด้านอุตสาหกรรมและการลงทุนอื่นๆ.