ให้ผู้อพยพหนีภูเขาไฟอากุงกลับบ้าน
ผู้ว่าการเกาะบาหลีกล่าวว่า มีจำนวนผู้คนที่อพยพออกจากบ้านเรือนด้วยความกลัวว่าภูเขาไฟอากุงจะปะทุมากเกินไป และคนหลายหมื่นคนควรเดินทางกลับบ้าน
โดย I Made Mangku Pastik ผู้ว่าการเกาะบาหลี ในอินโดนีเซียระบุว่า กลุ่มคนที่อยู่นอกเขตอันตรายฉับพลันควรกลับบ้าน เนื่องจากขณะนี้กลุ่มผู้อพยพเริ่มจะกลายเป็นภาระของศูนย์พักพิงแล้ว
ทั้งนี้ มีประชาชนมากกว่า 140,000 คนที่อพยพหนีออกจากที่อยู่อาศัยหลังจากทางการบาหลีประกาศเตือนภัยขั้นสูง เนื่องจากภูเขาไฟอากุงก่อให้เกิดแผ่นดินไหวนับร้อยครั้ง
หนึ่งสัปดาห์หลังจากการเตือนภัยขั้นต้น ทางการยังเตือนว่าภูเขาไฟยังคงมีอาการสั่นสะเทือนอยู่แต่คงที่
มีการจัดเตรียมที่พักพิงชั่วคราวประมาณ 500 แห่งให้กับประชาชนที่อพยพประมาณ 70,000 คนในพื้นที่นี้ แต่อีกหลายหมื่นคนที่อาศัยอยู่นอกเขตอันตรายฉับพลันก็ได้อพยพมาด้วย
“ ประชาชนจาก 27 หมู่บ้านเท่านั้นที่ต้องอพยพ ส่วนที่เหลือสามารถกลับบ้านได้” Sutopo Purwo Nugroho โฆษกของสำนักบรรเทาภัยพิบัติแห่งชาติระบุ
“ ประชาชนกลุ่มนี้สามารถเดินทางกลับบ้านได้ด้วยตัวเอง หรือด้วยความช่วยเหลือของทางรัฐบาล”
โดยศูนย์บรรเทาภัยพิบัติรุนแรงจากภูเขาไฟและธรณีวิทยาของอินโดนีเซียยังคงจับตาดูสถานการณ์ที่ภูเขาไฟอากุต่อไปเนื่องจากยังมีการสั่นสะเทือนที่ช่วงฐานของภูเขาไฟอย่างต่อเนื่อง และมีการบันทึกเมฆจากไอน้ำกำมะถันได้ถึง 200 เมตรเหนือยอดภูเขา
เกาะบาหลีเป็นสถานที่ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงจากนักท่องเที่ยว โดยในปี 2559 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนเกาะแห่งนี้มากถึง 5 ล้านคน
นาย Nugroho ยืนยันว่า นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาที่บาหลีได้เหมือนเดิม “ อย่ากลัวที่จะมาเยือนบาหลี ที่นี่ยังคงปลอดภัย และหากภูเขาไฟอากุงปะทุขึ้นมาจริงๆ ก็ยังคงปลอดภัย ตราบเท่าที่คุณอยู่นอกเขตอันตราย”
ภูเขาไฟอากุงอยู่ห่างจากสถานที่ท่องเที่ยวหลักอย่าง Kuta และ Seminyak ประมาณ 70 ก.ม. ซึ่งยังคงไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภูเขาไฟ แต่หลายประเทศอย่าง สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ได้ออกประกาศให้คำแนะนำแก่นักเดินทางจากประเทศของตน โดยเตือนถึงเที่ยวบินที่อาจถูกกระทบและการอพยพ
ในปี 2506 มีประชาชนเสียชีวิตจากการปะทุครั้งล่าสุดของภูเขาไฟอากุงมากกว่า 1,000 คน แต่ปัจจุบัน บาหลีมีจำนวนประชากรคับคั่งกว่าเดิมมาก แต่ก็มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีขึ้นด้วย การพัฒนาทางเทคนิคทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะตรวจจับสัญญาณอันตรายได้รวดเร็วขึ้น และมีแผนรับมือฉุกเฉินที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ ภูเขาไฟอากุงเป็นหนึ่งในภูเขาไฟประมาณ 130 ลูกในอินโดนีเซียที่ยังมีความเคลื่อนไหวอยู่ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกิดการปะทุและเกิดแผ่นดินไหวได้.