ไทย ประกาศความพร้อมเป็นเจ้าภาพ AMEM ครั้งที่ 37
กระทรวงพลังงาน เตรียมจัดงาน AMEM ครั้งที่ 37 ร่วมหาแนวทางบริหารจัดการ เสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ภูมิภาคอาเซียน พร้อมแสดงศักยภาพของไทยด้านการเป็น ศูนย์กลางพลังงานอาเซียน
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานแถลงข่าว ความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานครั้งที่ 37 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง (ASEAN Ministers on Energy Meeting and Associated Meeting : 37th AMEM) โดยกล่าวว่า การประชุม AMEM จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 6 กันยายน 2562 โดยประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนปี พ.ศ. 2562 จะเป็นเจ้าภาพจัดเวทีประชุมสร้างความร่วมมือ 3 กลุ่มผู้เล่นด้านพลังงานคือ เวทีระหว่างประเทศอาเซียน 10 ประเทศ เวทีระหว่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา และเวทีระหว่างประเทศอาเซียนกับองค์กรระหว่างประเทศในประเด็นพลังงานต่างๆ
แนวคิดหลัก (Theme) ของการประชุม AMEM ในปีนี้มี คือ “Advancing Energy Transition Through Partnership and Innovation” คือมุ่งเน้นความร่วมมือของกลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศคู่เจรจา รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ ในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงาน เพื่อให้ภูมิภาคอาเซียนสามารถก้าวเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่พลังงานที่มีความยั่งยืนในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของอาเซียนที่จะสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เพิ่มการเข้าถึงพลังงาน และสร้างพลังงานที่มีความยั่งยืนให้กับประชาชนในภูมิภาคอาเซียน
ทั้งนี้เวทีการประชุมในช่วงแรกวันที่ 2 – 3 กันยายน จะเป็นการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ส่วนการประชุมระดับรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน จะมีขึ้นในวันที่ 4 – 5 กันยายน โดยจะมีนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานเปิดการประชุม ซึ่งประเด็นหารือจะเป็นการสรุปกิจกรรมและผลงานรวมทั้งข้อเสนอต่างๆ ภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียนด้านพลังงานนำเสนอต่อรัฐมนตรีพลังงานของ 10 ประเทศ เพื่อรับทราบและเห็นชอบแผนดำเนินการในขั้นตอนต่อไป ส่วนการจัดประชุม ทวิภาคีระหว่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา กระทรวงพลังงานจะเปิดโอกาสให้ผู้นำระดับรัฐมนตรีพลังงานและเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนได้พบปะเจรจาระหว่างการประชุม
นายสนธิรัตน์กล่าวว่า “การประชุม AMEM ครั้งนี้เป็นเวทีที่ไทยจะได้แสดงบทบาทในการขับเคลื่อนความมั่นคง และความยั่งยืนทางพลังงานร่วมกับประเทศในภูมิภาคและยังเป็นโอกาสที่ไทยจะได้แสดงศักยภาพให้นานาชาติประจักษ์ถึงความพร้อมในการเป็นศูนย์เชื่อมโยงไฟฟ้าอาเซียน โดยอาศัยจุดแข็งที่มีอยู่เช่น ภาคการเกษตรของไทยที่สามารถพัฒนาผลิตเป็นพลังงานชีวภาพรูปแบบต่างๆ รวมทั้งจุดแข็งด้านภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศที่จะเชื่อมโยงการลงทุนจากทุกภูมิภาคได้ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้่จะมีความร่วมมือที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ การขยายปริมาณการซื้อขายไฟฟ้่าเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าพหุภาคีในโครงการลาว – ไทย – มาเลเซีย (LTM – PIP) จากเดิม 100 เมกะวัตต์เป็น 300 เมกะวัตต์ ซึ่งไทยเป็นประเทศทางผ่านของการเชื่อมโยงระบบสายส่งที่มีเสถียรภาพและความมั่นคงเพียงพอ”
นอกเหนือจากเวทีประชุมความร่วมมือดังกล่าว ยังมีการจัดกิจกรรม ASEAN Energy Business Forum (AEBF) คู่ขนานไปกับการประชุมหลัก โดยจะเป็นงานนิทรรศการ และการแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานจากผู้ประกอบการ รวมทั้งการจัดสัมมนาภายใต้หัวข้อหลัก “Renewable Energy Innovation Week” เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับผู้เชี่ยวชาญจากประเทศอาเซียนและประเทศต่าง ๆ อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ภาครัฐและภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมในการบูรณาการเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมด้านพลังงานหมุนเวียนและดึงดูดนักลงทุน รวมทั้งจะมีการจัดพิธีมอบรางวัล ASEAN Energy Awards ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีควบคู่กับการประชุม AMEM เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันผลักดันให้เกิดการขยายการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน และผลักดันให้เกิดการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน
ส่วนประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ จากการประชุม AMEM ครั้งที่ 37 จะมีส่วนช่วยผลักดันและสนับสนุนให้การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน แผนบูรณาการพลังงานระยะยาว 2559 – 2579 บรรลุเป้าหมายในการเสริมสร้างความมั่นคง มีความยั่งยืนทางด้านพลังงาน เกิดการค้า การลงทุน
และการพัฒนาด้านพลังงาน สอดคล้องเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับแผนปฏิบัติการอาเซียนด้านพลังงาน (ASEAN Plan of Action on Energy Cooperation: APAEC) พ.ศ. 2559 – 2568 ระยะที่ 1 พ.ศ. 2559 – 2563 อาทิ การขยายปริมาณรับซื้อไฟฟ้าโครงการ LTM-PIP จำนวน 300 เมกะวัตต์ การปรับมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานให้เป็นมาตรฐานเดียวกันในอาเซียน อาทิ อุปกรณ์ส่องสว่างและเครื่องปรับอากาศ การลดความเข้มการใช้พลังงานให้ได้ร้อยละ 20 ภายในปี พ.ศ. 2563 การผลักดันให้อาเซียนมีการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้นเป็นร้อยละ 23 ภายในปี 2568 การปรับปรุงฐานข้อมูลอาเซียนด้านพลังงานให้เป็นมาตรฐานสากลภายในปี พ.ศ. 2563 การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดเพื่อภาพลักษณ์ที่ดี การเสริมสร้างศักยภาพด้านพลังงานนิวเคลียร์ในด้านการกำกับดูแลเทคนิคและความปลอดภัย เป็นต้น
สำหรับกรอบความร่วมมืออาเซียนด้านพลังงานมี 7 สาขา และ 1 เครือข่ายความร่วมมือที่สำคัญ ประกอบด้วย 1) ความเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน 2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับขนส่งก๊าซธรรมชาติ 3) การส่งเสริมเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด 4) การส่งเสริมพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ 5) การส่งเสริมพลังงานทดแทน 6) การส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและอนุรักษ์พลังงาน 7) การจัดทำนโยบายและแผนอาเซียนด้านพลังงาน รวมถึงเครือข่ายความร่วมมือด้านการกำกับกิจการพลังงาน