ปิดสาขา 7-11 ในอินโดนีเซีย
ร้านสะดวกซื้อ 7-11 ซึ่งเปิดร้านสาขาในอินโดนีเซียครั้งแรกในปี 2552 พยายามจะทำเป็นร้านกาแฟที่ทันสมัยตามแนวคิดที่เป็นอยู่ทั่วโลกเพื่อดึงดูดผู้บริโภคที่อายุน้อยและใช้ชีวิตอยู่ในเมือง
ซึ่งกลยุทธ์นี้ก็ประสบความสำเร็จในระยะแรก ทำให้มีการเปิดสาขาเพิ่มอย่างรวดเร็วและเป็นที่รู้กันว่า ร้าน 7-11 เป็นร้านเพื่อพบปะสังสรรค์ฮอตฮิต ดื่มสเลอปีที่เป็นเครื่องดื่มซิกเนเจอร์ของร้านและใช้ wifi ฟรี
8 ปีต่อมาหลังจากเปิดร้านแรกในกรุงจาการ์ตา PT Modern Internasional Tbk ซึ่งเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ร้าน 7-11 ในอินโดนีเซีย ได้ประกาศปิดร้านสาขาทั้งหมดในประเทศ ซึ่งมีประมาณ 161 แห่ง ภายในสิ้นปี 2560 นี้ โดยในสัปดาห์ที่แล้วบริษัทให้เหตุผลของการปิดสาขาร้านว่า มีทรัพยากรจำกัด
Japan’s Seven & i Holdings Co Ltd ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเชนกิจการค้าปลีกร้านสะดวกซื้อ 7-11 ทั่วโลกได้ระบุว่า “ กำลังมองหาคนที่จะมาสวมรับกิจการแฟรนไชส์และหวังว่าจะเริ่มต้นธุรกิจได้เร็วๆ นี้ ”
“ อินโดนีเซียเป็นประเทศสำคัญสำหรับเรา นี่ไม่ใช่จุดจบของธุรกิจร้าน 7-11 ” โฆษกของบริษัทให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยเสริมว่าการปิดสาขาร้านแทบไม่ส่งผลกระทบใดๆ
นอกจากความประหยัดมัธยัสถ์ของผู้บริโภคชาวอินโดนีเซียแล้ว สาเหตุสำคัญยังมาจากการแข่งขันที่เข้มข้นและในปี 2558 คำสั่งห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านเล็กๆ มีผลบังคับใช้ยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ของร้าน 7-11 ให้ย่ำแย่ลง
“ คอนเซ็ปท์ของร้านน่าสนใจ แต่มันทำกำไรจริงหรือ ? ผู้คนที่มาร้าน 7-11 แค่จะมาพบปะพูดคุยกัน แต่คนที่ต้องการซื้อของและคนที่สร้างกำไรจริงๆให้กับร้านไม่ไปที่นั่นหรอก ” Tutum Rahanta ผู้ช่วยประธานสมาคมผู้ค้าปลีกแห่งอินโดนีเซียให้ความเห็น
ในปีที่แล้ว คู่แข่งสำคัญอย่างร้าน Indomaret และ Alfamart มีสัดส่วนการค้าปลีกในอินโดนีเซียสำหรับร้านสะดวกซื้ออยู่ที่ 51.2% และ 38.5% ตามลำดับ ขณะที่ร้าน 7-11 มีสัดส่วนคิดเป็น 0.7% เท่านั้น อ้างอิงจากผลสำรวจของบริษัทวิจัย Euromonitor International
PT Modern Internasional Tbk รายงานว่า มูลค่ายอดขายลดลงเกือบ 24% สำหรับร้าน 7-11
ลงมาเหลือ 675,300 ล้านรูเปียห์ในปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2558 อย่างไรก็ตาม บริษัทเองยังมีธุรกิจอื่นคือ ภาพถ่ายทางการแพทย์และอุปกรณ์เครื่องถ่ายเอกสาร
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ความพยายามในการเจรจาที่จะขายแฟรนไชส์ร้าน 7-11 ของบริษัทให้กับกลุ่มบริษัทซีพีของไทยในอินโดนีเซียด้วยมูลค่า 1 ล้านล้านรูเปียห์นั้นล้มเหลว.
หมายเหตุ 1,000 รูเปียห์ = 2.75 บาท / 2 ก.ค. 2560