หัวเว่ยกระตุ้นพนักงานสู้วิกฤตสหรัฐฯ
ฮ่องกง (รอยเตอร์) – หัวเว่ยจะทุ่มเทมากขึ้นกับการผลิตอุปกรณ์ในปีนี้เพื่อให้ซัพพลายไม่สะดุด ตัดลดตำแหน่งงานที่ซ้ำซ้อนและลดจำนวนผู้จัดการที่ไร้ประสิทธิภาพ เนื่องจากบริษัทต้องเลือกว่าจะ “อยู่ หรือ ตาย” ในช่วงเวลาที่สหรัฐฯควบคุมการส่งออก จากคำสัมภาษณ์ของเหรินเจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งหัวเว่ย
ถ้อยแถลงของเหรินมีขึ้นหลังจากสหรัฐฯ ระบุในสัปดาห์นี้ว่า จะขยายเวลาให้หัวเว่ยอีก 90 วันสำหรับการซื้อชิ้นส่วนจากบริษัทสหรัฐฯ เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีอยู่ แต่จะเดินหน้าขึ้นบัญชีดำต่ออีกกว่า 40 ยูนิตของหัวเว่ย
จากจดหมายภายในที่ส่งถึงพนักงานในบริษัทเมื่อวันที่ 19 ส.ค. เต็มไปด้วยคำเปรียบเปรยวิถีทหาร โดยเหรินในวัย 74 ปี ขอให้พนักงานทำงานอย่างสุดกำลังเพื่อให้ยอดขายบรรลุเป้าหมาย โดยบริษัทจะเข้าสู่ ‘โหมดต่อสู้’ เพื่อให้อยู่รอดในวิกฤตปัจจุบัน
“ บริษัทอยู่ในภาวะที่ต้องเลือกว่าจะอยู่ หรือตาย ” เหริน (ซึ่งเคยอยู่ในกองทัพจีน) ระบุในจดหมายภายใน ซึ่งทางสื่อรอยเตอร์ได้เห็นมา โดยทางหัวเว่ยยืนยันเนื้อหาในจดหมายว่าเป็นเช่นนั้น
“ ถ้าคุณไม่สามารถทำงานได้ ก็ช่วยเปิดทางให้รถถังของเราผ่าน และหากคุณอยากเข้าร่วมในสนามรบ คุณสามารถผูกเชือกช่วยลากจูงรถถังให้เคลื่อนไปได้ ทุกคนจำเป็นต้องมีความมุ่งมั่นเช่นนี้ ! ”
หัวเว่ยมีบทบาทสำคัญในสงครามการค้าสหรัฐฯ – จีน โดยรัฐบาลสหรัฐฯประกาศห้ามไม่ให้บริษัทสหรัฐฯขายชิ้นส่วนให้หัวเว่ยในเดือนพ.ค.ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง อย่างไรก็ตาม หัวเว่ยรายงานรายได้ช่วงครึ่งปีแรกนี้ที่เติบโตถึง 23% จากยอดขายสมาร์ทโฟนที่แข็งแกร่งในตลาดจีน
เหรินยังระบุอีกว่า “ ในครึ่งปีแรก ผลประกอบการเราดูดี เป็นเพราะลูกค้าจีนเห็นอกเห็นใจและช่วยซื้อสินค้าเรา ยอดขายทำให้เกิดสภาพคล่อง แต่นี่ไม่ได้แสดงถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน ”
แต่เขาแสดงความเชื่อมั่นในผลประกอบการในปีนี้ของหัวเว่ย และระบุว่าบริษัทจำเป็นต้อง “ ใช้เงินและแก้ปัญหาประเด็นการผลิต ” ด้วยการเน้นการลงทุนทางยุทธศาสตร์มากขึ้นกับการผลิตอุปกรณ์
จากจดหมายภายในบริษัท หัวเว่ย ซึ่งมีการจ้างงานเกือบ 190,000 อัตราทั่วโลก กำลังปฏิรูปการดำเนินการทั่วโลกด้วยการให้อำนาจมากขึ้นกับผู้บริหาร ลดตำแหน่งงานที่ซ้ำซ้อนและไร้ประสิทธิภาพ
“ ใน 3 – 5 ปี หัวเว่ยจะขับเคลื่อนด้วยคนรุ่นใหม่ หลังจากเราอยู่รอดจากช่วงเวลาที่สำคัญในประวัติศาสตร์ กองทัพใหม่จะถือกำเนิด เพื่ออะไร ? เพื่อครองโลก”
ขณะที่เหรินระบุในเดือนมิ.ย.ว่า การแบนของสหรัฐฯเลวร้ายกว่าที่คาด และรายรับของบริษัทอาจไม่เติบโตไปอีก 2 ปี แต่ในจดหมายภายใน เขาเรียกร้องให้พนักงานพยายามให้มากที่สุดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามกรอบก่อนที่จะเจอคำสั่งแบนจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการเติบโตประมาณ 125,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ( 3.86 ล้านล้านบาท ) จากเดิมประมาณ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (3.09 ล้านล้านบาท) ในปี 2561
ทั้งนี้ เขายังเตือนถึงกระแสเงินสดหากไม่มีการจ่ายเงินตามเวลา เขาขอให้พนักงานพยายามเร่งรัดให้ลูกค้าจ่ายเงินตามกำหนด มิเช่นนั้นอาจขาดสภาพคล่องและเป็นปัญหากับบริษัทได้.