เศรษฐกิจสิงคโปร์โตสุดในรอบ 5 ปี
เศรษฐกิจของสิงคโปร์ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 มีอัตราการเติบโตขยายตัวสูงที่สุดในช่วงเวลามากกว่า 5 ปี โดยได้แรงขับเคลื่อนที่สำคัญจากภาคการผลิตที่พุ่งทะยานเนื่องจากการส่งออกของประเทศเริ่มฟื้นตัว
โดยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพีปรับเพิ่มขึ้นเป็น 12.3% ต่อปีในไตรมาสสุดท้ายสิ้นสุดเดือนธ.ค.เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ดีดตัวกลับขึ้นมาจากตัวเลขที่หดตัว 0.4% อ้างอิงจากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ของสิงคโปร์ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา
นับเป็นตัวเลขที่สูงกว่าที่รัฐบาลประเมินไว้เมื่อเดือนม.ค.ว่าจะมีการเติบโตอยู่ประมาณ 9.1% และก็ยังสูงกว่าตัวเลขจากตัวเลขคาดการณ์โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 12.6% จากการสำรวจความคิดเห็นจากนักวิเคราะห์ 8 คนของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก
ทั้งนี้ ตัวเลขจีดีพีเพิ่มขึ้น 2.9% ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2558 และเศรษฐกิจมีการขยายตัว 2% ในปี 2559 สูงกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้คือ 1.8%
สิงคโปร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่พึ่งพาการค้าสูงที่สุดในเอเชีย กำลังได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของดีมานด์จากจีน ทำให้การส่งออกและผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 แต่แนวโน้มยังคงผันผวนเนื่องจากดีมานด์ทั่วโลกยังคงซบเซาอยู่ และสหรัฐฯ มีท่าทีที่จะใช้นโยบายกีดกันทางการค้ากับประเทศอย่างจีน
รัฐบาลสิงคโปร์คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของประเทศจะมีการเติบโต 1 – 3% ในปี 2560 นี้ และจะดำเนินยุทธศาสตร์ให้ตัวเลขการเติบโตยังคงอยู่ที่ 2 -3% ในหลายปีข้างหน้านี้ แนวโน้มจะเป็นตัวกำหนดงบประมาณ ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลังจะมีการเปิดเผยข้อมูลในวันที่ 20 ก.พ. และทางธนาคารกลางจะมีการพิจารณาทบทวนนโยบายในเดือนเม.ย.ที่จะถึงนี้
“ โมเมนตัมที่ปรับดีขึ้นในภาคการผลิตในช่วงท้ายของปี 2559 คาดว่าจะยังคงดีต่อเนื่องในปี 2560 นี้ โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของดีมานด์ทั่วโลกในตลาดเซมิคอนดักเตอร์และอุปกรณ์ชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ ” อ้างอิงจากกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรม ขณะที่มีแนวโน้มว่าการค้าทั่วโลกจะค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปี 2560 แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงในเสถียรภาพของเศรษฐกิจทั่วโลกอยู่
“จับตามองดูอย่างใกล้ชิดในเอเชีย ซึ่งจีนยังคงมีความสำคัญมาก เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว ดูเหมือนเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงเล็กน้อย” นายเอ็ดเวิร์ด ลี นักวิจัยเศรษฐกิจในเอเชียของ Standard Chartered Plc ในสิงคโปร์ให้ความเห็น
ภาคอุตสาหกรรมบริการ ซึ่งคิดเป็น 2 ใน 3 ของเศรษฐกิจปรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 ในอัตรา 8.4% ต่อปี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ โดยได้แรงขับเคลื่อนสำคัญจากภาคบริการทางการเงินที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดถึง 36.5%
ในขณะที่ภาคการผลิตขยายตัวสูงถึง 39.8% ต่อปีและการส่งออกสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมันเติบโตต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 3 โดยขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.6% จากปี 2558 อ้างอิงจากข้อมูลในรายงานของของหน่วยส่งเสริมการลงทุนสิงคโปร์.