สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 2 ธ.ค. 67
1. สรุปสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศวันนี้ : มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้มีฝนลดลง
คาดการณ์ : ในช่วงวันที่ 3–5 ธ.ค. 67 หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวไทยตอนล่างและชายฝั่งประเทศมาเลเซียจะเคลื่อนเข้าปกคลุมบริเวณภาคใต้ตอนล่าง ทำให้ภาคใต้ตอนกลางถึงตอนล่างมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และมีฝนตกหนักมากบางแห่ง ในขณะที่ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคตะวันออก ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคเหนือ ทำให้มีฝนเล็กน้อยบางแห่ง
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 82% ของความจุเก็บกัก (65,986 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 72% (41,768 ล้าน ลบ.ม.) เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ระดับน้ำต่ำกว่าระดับควบคุมต่ำสุดหรือมีน้ำใช้การน้อยกว่า 30%
3 แห่ง ดังนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จุฬาภรณ์ ลำตะคอง และสิรินธร
3. คุณภาพน้ำ : แม่น้ำสายหลัก 4 สาย (เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง และบางปะกง) อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
4. ประกาศ : ประกาศ สทนช. ฉบับที่ 20/2567 ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคใต้ ในช่วงวันที่ 27 พ.ย. – 4 ธ.ค. 67 ดังนี้
1. พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากดินโคลนถล่ม น้ำท่วมขังในเขตชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน บริเวณ จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี ตรัง สตูล นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
2. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเขื่อนบางลาง จ.ยะลา ให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม
3. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ คลองชุมพร แม่น้ำหลังสวน แม่น้ำตาปี แม่น้ำตรัง คลองชะอวด คลองลำ คลองท่าแนะ แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา แม่น้ำโก-ลก และคลองตันหยงมัส
5.การให้ความช่วยเหลือ : วานนี้ (1 ธ.ค. 67) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามแผนการขุดลอกแม่น้ำสาย – แม่น้ำรวก ณ อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยมีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่
เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า รัฐบาลมีความห่วงใยปัญหาอุทกภัยใน จ.เชียงราย ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมากในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา จึงได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าการขุดลอกแม่น้ำสาย – แม่น้ำรวก ซึ่งเป็นแม่น้ำที่สำคัญของ จ.เชียงรายและเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศไทย – เมียนมา เนื่องจากความตื้นเขินของแม่น้ำสาย – แม่น้ำรวก ทำให้ประสิทธิภาพในการระบายน้ำลดลง ไม่สามารถระบายน้ำได้ทันในช่วงที่ฝนตกหนัก จึงถือเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเกิดอุทกภัย ซึ่งในช่วงเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา มีสถานการณ์ฝนตกหนักมากในพื้นที่ส่งผลให้เกิดน้ำหลากในแม่น้ำสาย มีน้ำหลากและโคลนไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญบริเวณด่านการค้าชายแดนแม่สาย เพื่อเร่งรัดแก้ไขปัญหาดังกล่าว คณะทำงานเร่งรัดจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและดินโคลนถล่มในพื้นที่ จ.เชียงใหม่และเชียงราย จึงได้มีแผนการดำเนินการแก้ไขปัญหาแม่น้ำสาย – แม่น้ำรวก ในเชิงโครงสร้างพื้นฐาน ตั้งแต่ระยะเร่งด่วน 1 ปี ระยะกลาง 1 – 3 ปี และระยะยาว 3 – 5 ปี สำหรับแผนในระยะเร่งด่วน ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการไหลของน้ำในแม่น้ำ ประกอบด้วย ขุดลอกแม่น้ำ รื้อถอนสิ่งกีดขวางทางน้ำ และสร้างพนังกั้นน้ำชั่วคราว/กึ่งถาวร รวมระยะทางแม่น้ำสาย 14.15 กม. และแม่น้ำรวก 31.19 กม. กองทัพบกเป็นผู้รับผิดชอบหลัก โดยกำหนดแผนการดำเนินงานให้แล้วเสร็จทันฤดูฝนปี 2568
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 1 ธ.ค. 67