สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 28 พ.ย. 67
1. สรุปสถานการณ์น้ และสภาพอากาศวันนี้ : มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างมีแนวโน้มเคลื่อนผ่านอ่าวไทยตอนล่างและประเทศมาเลเซียลงสู่ทะเลอันดามันตอนล่าง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่
ในช่วงวันที่ 28–30 พ.ย. 67 หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างจะเคลื่อนผ่านประเทศมาเลเซียลงสู่ทะเลอันดามันตอนล่าง ทำให้ภาคใต้ตอนกลางและตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 82% ของความจุเก็บกัก (65,852 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 72% (41,644 ล้าน ลบ.ม.) เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ระดับน้ำต่ำกว่าระดับควบคุมต่ำสุดหรือมีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% 2 แห่ง ดังนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : น้ำพุง จุฬาภรณ์ และลำตะคอง
3. คุณภาพน้ำ : แม่น้ำสายหลัก 4 สาย (เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง และบางปะกง) อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
4. ประกาศ : ประกาศ สทนช. ฉบับที่ 20/2567 ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคใต้ ในช่วงวันที่ 27 พ.ย.-4 ธ.ค. 67 ดังนี้
1. พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากดินโคลนถล่ม น้ำท่วมขังในเขตชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน บริเวณ จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี ตรัง สตูล นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
2. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเขื่อนบางลาง จ.ยะลา ให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม
3. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลัก และลำน้ำสาขาของ คลองชุมพร แม่น้ำหลังสวน แม่น้ำตาปี แม่น้ำตรัง คลองชะอวด คลองลำ คลองท่าแนะ แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา แม่น้ำโก-ลก และคลองตันหยงมัส
5. ข่าวประชาสัมพันธ์ : เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 67 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ครั้งที่ 31 และการประชุมระหว่างคณะมนตรี กับกลุ่มหุ้นส่วนการพัฒนา ครั้งที่ 29 ณ เมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว ร่วมกับคณะผู้แทนจาก สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม และผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ พร้อมด้วยคณะผู้แทนฝ่ายไทย โดยการประชุมในวันนี้เป็นโอกาสอันดีที่ได้ร่วมหารือและกำหนดแนวทางความร่วมมือในการพัฒนาแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน โดยได้พิจารณาแผนการดำเนินงาน ปี 2568 – 2569 และรับทราบการดำเนินงานตามแผนฯ ปี 2567 เพื่อรับมือกับความท้าทายในลุ่มแม่น้ำโขงที่มีความรุนแรงและความถี่มากขึ้น
ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศทางน้ำ ความเหลื่อมล้ำทางสังคมอันเกิดจากการพัฒนา ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ และภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยมีประชาชนกว่าหลายล้านคนในอนุภูมิภาคต้องเผชิญกับอุทกภัย ในช่วง 2 – 3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งปัญหาต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและความยั่งยืนของระบบนิเวศและในโอกาสนี้ ยังได้รับมอบตำแหน่งประธานคณะมนตรี MRC ประจำปี 2568 ซึ่งเป็นวาระการดำรงตำแหน่งของประเทศไทย โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการบูรณาการความร่วมมือ ภายใต้กรอบ MRC ซึ่งเป็นกรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือ และมีจุดมุ่งหมายสำคัญในการสร้างประโยชน์ร่วมกัน ผ่านการมีกลไกการเจรจาหารือและการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกระดับ ส่งเสริมการรับฟังความคิดเห็นจากองค์กรต่าง ๆ การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน เพื่อให้เกิดการรับทราบข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นธรรม รวมถึงการพัฒนาโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งจะเป็นแนวทางในการสร้างความยั่งยืนที่แท้จริง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 27 พ.ย. 67