สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 23 พ.ย. 67
1. สรุปสถานการณ์น้ำ และสภาพอากาศวันนี้ : ความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางมีอากาศเย็น ในขณะที่มีลมตะวันออกพัดปกคลุมบริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้มีกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 82% ของความจุเก็บกัก (65,970 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 72% (41,766 ล้าน ลบ.ม.) เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ระดับน้ำต่ำกว่าระดับควบคุมต่ำสุดหรือมีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% 1 แห่ง ดังนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จุฬาภรณ์ และลำตะคอง พร่องน้ำเตรียมรองรับน้ำในฤดูฝน 1 แห่ง ภาคใต้ : บางลาง
3. คุณภาพน้ำ : แม่น้ำสายหลัก 4 สาย (เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง และบางปะกง) อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
4. ประกาศ : สทนช. ประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคใต้ ในช่วงวันที่ 20 – 26 พ.ย. 67 ดังนี้
1.พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม น้ำท่วมขังในเขตชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน บริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
2.เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเขื่อนบางลาง จ.ยะลา ให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม
3.เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ แม่น้ำตาปี แม่น้ำตรัง คลองชะอวด คลองลำ คลองท่าแนะ แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา แม่น้ำโก-ลก และคลองตันหยงมัส
5. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : วานนี้(22 พ.ย.67) คณะทำงานศึกษา วางแผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และดินโคลนถล่ม ในพื้นที่ภาคเหนือ ประชุมครั้งที่ 2 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามการดำเนินงานของคณะทำงาน รวมถึงการพิจารณาแผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและดินโคลนถล่มในแม่น้ำปิง แม่น้ำกก และแม่น้ำสาย และพิจารณาแผนการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อป้องกันและลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ในอนาคต
6. การให้ความช่วยเหลือ : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ อ.ศรีนครินทร์ และ อ.เมืองพัทลุง จ.พัทลุง อย่างเร่งด่วน โดยส่งเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่สำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหาย เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามระเบียบของกระทรวงการคลังฯ และระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 22 พ.ย. 67