สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 5 พ.ย. 67
1. สรุปสถานการณ์น้ำ และสภาพอากาศวันนี้ : สภาพอากาศวันนี้ : ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนตามแนวร่องมรสุมลงสู่ทะเลอันดามัน ในขณะที่มีมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางพัดปกคลุมอ่าวไทยตอนบน และภาคใต้ตอนบน ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
สำหรับบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้มีอากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งในภาคตะวันออกและภาคกลางตอนล่าง
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 82% ของความจุเก็บกัก (65,977 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 72% (41,780 ล้าน ลบ.ม.) เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ระดับน้ำต่ำกว่าระดับควบคุมต่ำสุดหรือมีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% 3 แห่ง ดังนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : น้ำพุง จุฬาภรณ์ และลำตะคอง
3. คุณภาพน้ำ : แม่น้ำสายหลัก 4 สาย (เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง และบางปะกง) อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
4. ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ : ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ.ฉบับที่ 18/2567 ลงวันที่ 1 พ.ย. 67 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคใต้ ช่วงวันที่ 2-6 พ.ย. 67 สทนช. ประกาศเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม น้ำท่วมขังในเขตชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน บริเวณ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง พัทลุงนครศรีธรรมราช และสงขลา ทั้งนี้ควรเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80..บริเวณ จ.ระนอง สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต กระบี่ และอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกัก รวมทั้งเฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณด้านท้ายน้ำบริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ คลองบางสะพาน คลองชุมพร แม่น้ำหลังสวน แม่น้ำตาปี คลองชะอวด คลองลำ คลองท่าแนะ และแม่น้ำตรัง
5. แนววทางการบริหารน้ำ : วานนี้ (4 พ.ย. 67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและการขับเคลื่อนมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2567/68 และได้ลงพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำตามมาตรการรองรับฤดูแล้ง จ.นครราชสีมา เพื่อบูรณาการทุกหน่วยงานในการเร่งขับเคลื่อน 8 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2567/68 พร้อมมอบแนวทางแก้ไขปัญหาด้านน้ำ
1. ระยะเร่งด่วน มอบหมายหน่วยงานดำเนินการ ดังนี้
– สทนช. ร่วมกับจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประสานการทำงานตามมาตรการอย่างใกล้ชิดและเตรียมแผนป้องกันไว้ล่วงหน้า พร้อมเร่งจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ ซ่อมแซมหรือปรับปรุงแหล่งน้ำเพื่อเก็บกักน้ำให้มากขึ้น
– องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เร่งพัฒนาแหล่งน้ำสำรองเพื่อความมั่นคงด้านน้ำต้นทุน
– จังหวัด คณะกรรมการลุ่มน้ำ และภาคส่วนต่างๆ เร่งสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
– กรมชลประทาน สนับสนุนน้ำต้นทุนในลำน้ำมูลให้เพียงพอต่อการผลิตน้ำประปาตลอดช่วงฤดูแล้งนี้
2. ระยะยาว มอบหมายหน่วยงานดำเนินการ ดังนี้
– สทนช. บูรณาการทุกหน่วยงานเร่งขับเคลื่อนแผนงาน/โครงการพัฒนาแหล่งน้ำในการเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำ
– กรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำในอ่างฯ ลำตะคองให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
– องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดหาแหล่งน้ำสำรองเพิ่มเติมเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคและการเกษตร ตามลำดับ
– องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเสนอโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำระดับท้องถิ่น รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อให้การใช้น้ำร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 4 พ.ย. 67