ทำไมสภา โหวตคว่ำ? ข้อสังเกต “รายงานนิรโทษกรรม”
เปิดข้อสังเกต รายงานผลการศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ทำไมถึงถูกคว่ำ
เป็นเรื่องน่าแปลกใจพอสมควร เมื่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โหวตคว่ำ ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม เมื่อวันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา
สำนักข่าว AEC10News จึงพามาเปิดดูข้อสังเกต คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม แบบชัดๆ จะได้รู้ว่าเหตุผลว่าทำไมจึงถูกคว่ำ โดยมีเนื้อหา ดังนี้
ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ
คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ได้พิจารณาศึกษาแล้วเห็นว่าควรมีข้อสังเกตที่คณะรัฐมนตรี สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ควรรับทราบหรือควรปฏิบัติไว้ในรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญมีข้อสังเกตว่า
1)สังคมไทยอยู่ในความขัดแย้งมานาน การนิรโทษกรรมจึงเป็นความความจำเป็นเร่งด่วนอันจะนำมาซึ่งความปรองดองสมานฉันท์ และทำให้สังคมกลับคืนสู่สภาพปกติคณะกรรมาธิการวิสามัญ จึงมีข้อสังเกตว่า คณะรัฐมนตรีควรพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อนำไปเป็นแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมโดยเร็ว พร้อมทั้งออกนโยบายและมาตรการที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม และแจ้งผลของการพิจารณาหรือการปฏิบัติตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญมายังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จากนั้นให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรแจ้งผลดังกล่าวไปยังคณะกรรมาธิการสามัญทั้งสามสิบห้าคณะเพื่อติดตามผลการปฏิบัติตามมติของสภาต่อไป
2)ข้อมูลสถิติคดีจากหน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม เป็นข้อมูลสถิติโดยรวมของคดีความผิดในปีนั้นๆ ว่ามีการฟ้องร้องคดีในฐานความผิดใดบ้าง ไม่ได้แยกเป็นการเฉพาะว่าคดีใดเป็นคดีความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง จึงทำให้ตัวเลขจำนวนคดีนั้นมีจำนวนมากไม่สอดคล้องกับจำนวนผู้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากการกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง ประกอบกับในหน่วยงานของรัฐแต่ละหน่วยงานมีการจัดเก็บสถิติคดีที่แตกต่างกัน บางหน่วยงานข้อมูลสถิติไม่ได้มีการจัดเก็บรวมในส่วนกลางจะเป็นข้อมูลที่อยู่ในแต่ละพื้นที่กระจายไปทั่วประเทศ บางหน่วยงานมีหน่วยงานภายในที่จัดเก็บข้อมูลหลายหน่วยงานแต่มีข้อมูลที่ไม่ตรงกัน นอกจากนี้ ข้อมูลที่จัดเก็บยังเป็นการจัดเก็บแบบรายคดี ทำให้ไม่สามารถทราบว่าคดีดังกล่าว มีจำนวนผู้ที่กระทำผิดเท่าใดและเป็นการกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองหรือไม่ และการจะลงไปศึกษาเป็นรายคดีเพื่อให้ชัดเจนว่าคดีใดเป็นคดีที่เป็นการกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองทำได้ยากเพราะสำนวนคดีมีจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลสถิติดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะบางประการของกลุ่มชุมนุม ทำให้สามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาได้ว่า คดีใดเป็นคดีที่เป็นการกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง และข้อมูลที่ควรใช้เป็นหลักในการพิจารณา คือ ข้อมูลของสำนักงานศาลยุติธรรม เนื่องจากเป็นข้อมูลที่มีการรวบรวมสถิติไว้อย่างเป็นระบบ มีความชัดเจนพอสมควรและได้มีการฟ้องร้องเป็นคดีแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังสมควรต้องสืบค้นจำนวนผู้กระทำความผิดในแต่ละฐานความผิดมาประกอบการพิจารณาด้วย
3)ฐานความผิดนั้นมีความยึดโยงกับการนิรโทษกรรมอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ ฐานความผิดนั้น สามารถเป็นกรอบในการพิจารณาว่า ฐานความผิดใดที่มีผลสืบเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง ซึ่งจะเป็นแนวทางในการพิจารณาเรื่องการนิรโทษกรรม หรือการดำเนินการอื่นใด ในการนี้จึงควรพิจารณาฐานความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นการนิรโทษกรรมโดยความละเอียดรอบคอบพร้อมทั้งคำนึงถึงจำนวนคดีที่กระทำผิด จำนวนผู้กระทำความผิดในแต่ละคดี และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา
อนึ่ง ที่ผ่านมาได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการปรองดอง การสมานฉันท์และการนิรโทษกรรม มาหลายคณะก่อนหน้านี้แล้ว แต่คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นเหล่านั้นไม่ได้มีการ พิจารณาเกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และมาตรา 112 เนื่องจากเป็น ประเด็นที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองและเป็นเรื่องของความมั่นคงแห่งรัฐ ดังนั้น ประเด็นฐานความผิดเกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และมาตรา 112 นั้น ยังคงเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวอยู่
4)ความผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 (ฆ่าผู้อื่น) และมาตรา 289(ฆ่าผู้อื่นโดยเหตุฉกรรจ์) คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแล้วเห็นว่าความผิดดังกล่าว ไม่ได้เป็นคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง แต่เป็นการกระทำความผิดที่มีความรุนแรง และควรให้ผู้กระทำความผิดรับผิดชอบต่อการกระทำความเสียหายกับบุคคลภายนอก ประกอบกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติยังได้ส่งความเห็นมายังคณะกรรมาธิการวิสามัญว่า ประเภทความผิดที่สมควรได้รับการนิรโทษกรรมนั้นต้องไม่เป็นความผิดที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และที่กฎหมายระหว่างประเทศกำหนดว่าไม่ควรให้มีการนิรโทษกรรม จึงมีความเห็นว่าจะไม่นิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำความผิด
ตามมาตราดังกล่าว
ถึงแม้โดยหลักการเห็นว่า ไม่ควรนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรา 288 และมาตรา 289 อย่างไรก็ดี มีการแสดงข้อกังวลว่า การจะนิรโทษกรรมคดีใดไม่ควรพิจารณาจากข้อหาเพียงอย่างเดียวเพราะอาจมีคดีที่ผ่านกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ปกติหรือถูกกลั่นแกล้งว่ากระทำความผิดตามมาตราดังกล่าว กล่าวคือ ผู้ถูกดำเนินคดีไม่มีเจตนา ไม่ได้กระทำผิด หรือไม่มีผู้เสียชีวิตจริง ในกรณีนี้ควรให้มีการสืบพยานเพื่อให้ทราบว่าผู้ถูกดำเนินคดีเป็นผู้กระทำความผิดจริงหรือไม่ ถ้าผู้ถูกดำเนินคดีไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดก็ควรให้สิทธิเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการนิรโทษกรรมเพื่อเป็นช่องทางหนึ่งในการอำนวยความยุติธรรม
5)สภาผู้แทนราษฎรควรมีข้อสังเกตไปยังคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารว่าในระหว่างที่ยังไม่มีการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมสมควรที่คณะรัฐมนตรีจะได้กำหนดนโยบายให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมดำเนินการตามกลไกของกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบ เพื่อเป็นการอำนวยความยุติธรรม ดังต่อไปนี้
6)หลักการของกฎหมายนิรโทษกรรมคือ การลืม การลืมความผิด การลืมความขัดแย้งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต เพื่อให้แต่ละฝ่ายกลับมาอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขและประเทศชาติ สามารถพัฒนาต่อไปได้จึงเป็นการลบล้างความผิดและความรับผิดของผู้กระทำความผิดให้ไม่ต้องมีความผิดหรือรับโทษต่อไป ที่ผ่านมากฎหมายนิรโทษกรรมจะกำหนดให้การนิรโทษกรรมไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมในอันที่จะเรียกร้องสิทธิหรือประโยชน์ใด ๆ
ดังนั้น การกำหนดให้ผู้ได้รับนิรโทษกรรมได้รับสิทธิที่ต้องสูญเสียไปโดยผลของคำพิพากษากลับคืนมาสามารถกระทำได้ โดยต้องกำหนดไว้ในกฎหมายอย่างชัดแจ้งว่าจะคืนสิทธิใดบ้างและเมื่อการนิรโทษกรรมที่จะเกิดขึ้นนี้ มุ่งหมายในการคลี่คลายประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง ดังนั้นจึงควรคืนสิทธิทางการเมืองให้กับผู้ที่ได้รับนิรโทษกรรมคณะกรรมาธิการวิสามัญได้จัดทำรายงานผลการพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ นิรโทษกรรม พร้อมข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญ มาเพื่อโปรดพิจารณาและนำเสนอต่อ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาต่อไป