สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 2 ก.ย. 67
1. สรุปสถานการณ์น้ำ และปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.พิษณุโลก (89 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.อุบลราชธานี (160 มม.) ภาคกลาง : จ.นนทบุรี (105 มม.) ภาคตะวันออก : จ.ชลบุรี (95 มม.) ภาคตะวันตก : จ.กาญจนบุรี (137 มม.) ภาคใต้ : จ.ระนอง (60 มม.)
สภาพอากาศวันนี้ : ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่ง
คาดการณ์ : ช่วงวันที่ 3-7 ก.ย. 67 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 58% ของความจุเก็บกัก (46,585 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 39% (22,423 ล้าน ลบ.ม.)
3. ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ : ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 13/2567 ลงวันที่ 1 ก.ย.67 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 3 – 9 ก.ย. 67 พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวัง ดังนี้
พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และบริเวณชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน บริเวณ จ.ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย บึงกาฬ อุบลราชธานี นครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง และสตูล
เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80
เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ แม่น้ำยม แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำจันทบุรี แม่น้ำตราด โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยา
บริเวณ คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และแม่น้ำน้อย ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา
4. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : วานนี้ (1.ก.ย. 67) นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และคณะ พร้อมด้วย นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการ จ.พิษณุโลก และนายวรพจน์ เพชรนรชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 กรมชลประทาน ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยม – น่าน รวมทั้งความพร้อมของโครงการบางระกำโมเดล ที่ใช้ทุ่งบางระกำเป็นพื้นที่หน่วงน้ำให้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 และเป็นไปตาม พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561
ทั้งนี้ เลขาธิการ สทนช. ได้กำชับให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก ให้สัมพันธ์กับการบริหารจัดการน้ำทุ่งทะเลหลวง จ.สุโขทัย โดยต้องเฝ้าระวังระดับน้ำไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ และให้ข้อแนะนำในการจัดเตรียมแผนงาน/โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการรับน้ำในพื้นที่ทุ่งบางระกำโมเดล เช่น การยกระดับถนนคันดิน สถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ โดยให้ปรับแผนต่าง ๆ ที่มีความพร้อมเพื่อเสนอเข้าแผน 3 ปี ด้านทรัพยากรน้ำ พร้อมพิจารณาจัดทำแผนการรับน้ำเข้าทุ่งโดยจัดเตรียมเสนอพื้นที่ทุ่งรับน้ำเพิ่มเติม เพื่อช่วยบริหารจัดการน้ำหลากในช่วงฤดูฝนที่มีปริมาณน้ำมากเกินประสิทธิภาพการระบายน้ำ ซึ่งจะสามารถป้องกันและบรรเทาอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
5. สถานการณ์น้ำท่วม : วันที่ 1 ก.ย. 67 ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย (อ.เมืองฯ เทิง ขุนตาล พญาเม็งราย และเวียงแก่น) จ.เชียงใหม่ (อ.แม่ริม) จ.ลำปาง (อ.แจ้ห่ม และงาว) จ.สุโขทัย (อ.เมืองฯ ศรีสัชนาลัย สวรรคโลก ศรีสำโรง ศรีนคร และกงไกรลาศ) จ.พิษณุโลก (อ.บางระกำ และพรหมพิราม) และ จ.หนองคาย (อ.เมืองฯ ท่าบ่อ ศรีเมืองใหม่ สังคม และรัตนวาปี)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 1 ก.ย. 67