สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 12 ส.ค. 67
1. สรุปสถานการณ์น้ำ และปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.เชียงราย (94 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.สกลนคร (89 มม.) ภาคกลาง : จ.สระบุรี (32 มม.) ภาคตะวันออก : จ.นครนายก (115 มม.) ภาคตะวันตก : จ.ประจวบคีรีขันธ์ (22 มม.) ภาคใต้ : จ.ปัตตานี (87 มม.)
สภาพอากาศวันนี้ : ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออก จากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้
ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้นเป็นปานกลาง ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคเหนือตอนบนและประเทศลาวเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน
คาดการณ์ : ช่วงวันที่ 15 –17 ส.ค. 67 ร่องมรสุมกำลังปานกลางจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ตลอดช่วง ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 57% ของความจุเก็บกัก (46,207 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 38% (22,045 ล้าน ลบ.ม.)
3. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : วานนี้ (11 ส.ค. 67) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ และความก้าวหน้ามาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 ในพื้นที่ลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่าน ณ ประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์และ
คลองยม – น่าน อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ประตูระบายน้ำบ้านใหม่โพธิ์ทองและคันกั้นน้ำ DK1 คลองเมม อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก โดยมีผู้แทนจากกรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมอุตุนิยมวิทยา และหน่วยงานท้องถิ่น ร่วมลงพื้นที่ด้วย ทั้งนี้ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการติดตามสภาพภูมิอากาศอย่างใกล้ชิด และวิเคราะห์คาดการณ์ฝน One Map พบว่า ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมถึงกันยายนนี้ ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างจะมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นซึ่งพื้นที่ลุ่มน้ำยม ยังไม่มีโครงการแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่จะช่วยกักเก็บน้ำไว้ได้ ดังนั้น พื้นที่ จ.สุโขทัย จึงมีความเสี่ยงที่จะต้องรับสถานการณ์น้ำหลาก การลงพื้นที่ในวันนี้เพื่อมาติดตามความพร้อมของประตูระบายน้ำตามจุดต่าง ๆ ให้สามารถปรับแผนในการเพิ่มประสิทธิภาพการของระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
โดย เลขาธิการ สทนช. ได้ให้ข้อเสนอแนะกับกรมชลประทานในการปรับการเพิ่มการระบายน้ำเพื่อเร่งพร่องน้ำบริเวณพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำยม เพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำเตรียมรับมือสถานการณ์ฝนในช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้ สำหรับแผนการผันน้ำจากลุ่มน้ำยมไปแม่น้ำน่าน กรมชลประทานได้เตรียมพื้นที่ทุ่งบางระกำไว้รอรับน้ำหลาก หลังเก็บเกี่ยวข้าวครบแล้วทุกพื้นที่ ทั้งนี้ เลขาธิการ สทนช. ได้ให้ข้อเสนอแนะในการดำเนินการของพื้นที่ทุ่งบางระกำว่าจะต้องมีการพัฒนาการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในการขยายพื้นที่ฝั่งขวาของแม่น้ำยมให้เป็นพื้นที่รับน้ำ ซึ่งจะต้องวางแผนการกระจายน้ำให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวข้าวได้เร็วขึ้น โดยให้เริ่มเพาะปลูกข้าวตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนเพื่อเก็บเกี่ยวข้าวได้ทันก่อนช่วงน้ำหลากในช่วงเดือนสิงหาคม
นอกจากนี้ กรมชลประทานอยู่ระหว่างดำเนินการโครงการปรับปรุงคลองยม-น่าน ด้านเหนือน้ำ ประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำผ่านคลองยม – น่านให้ได้มากขึ้น คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2569 รวมทั้งแผน 3 ปี.ด้านทรัพยากรน้ำและโครงการสำคัญ โดยให้กรมชลประทานเร่งเสนอโครงการระบบกระจายน้ำเข้าพื้นที่รับน้ำบริเวณฝั่งขวาของแม่น้ำยม และโครงการเสริมคันกั้นน้ำตลอดแนวลำน้ำและคลองต่าง ๆ บริเวณจุดเสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซากของลุ่มน้ำยม เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและลดผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
5. สถานการณ์น้ำท่วม วันที่ 12 ส.ค. 67 ในพื้นที่ 1 จังหวัด ได้แก่ จ.ปราจีนบุรี (อ.บ้านสร้าง และประจันตคาม)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 11 ส.ค. 67