สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 8 ส.ค. 67
1.สรุปสถานการณ์น้ำ ปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.เชียงราย (91 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.สกลนคร (54 มม.) ภาคกลาง : จ.สมุทรปราการ (106 มม.) ภาคตะวันออก : จ.ระยอง (71 มม.) ภาคตะวันตก : จ.กาญจนบุรี (46 มม.) ภาคใต้ : จ.นครศรีธรรมราช (233 มม.)
สภาพอากาศวันนี้ : มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ส่งผลให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้
คาดการณ์ : ช่วงวันที่ 10 – 13 ส.ค. 67 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำประเทศเวียดนามตอนบน ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 57% ของความจุเก็บกัก (45,820 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 37% (21,658 ล้าน ลบ.ม.)
3. ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ : สทนช. ประกาศเฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลง ในช่วงวันที่ 6 – 10 ส.ค. 67 จึงขอให้เฝ้าระวังเตรียมความพร้อมรับมือส่งผลกระทบให้ระดับน้ำแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้น และเศษซากไม้ลอยน้ำ ดังนี้
บริเวณสถานีหนองคาย จ.หนองคาย และ สถานีบึงกาฬ จ.บึงกาฬ ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในช่วงวันที่ 6 -7 ส.ค. 67 ประมาณ 1.0 ม. ยังคงต่ำกว่าตลิ่ง 1.5 ม.
บริเวณสถานีนครพนม จ.นครพนม และสถานีมุกดาหาร จ.มุกดาหาร ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในช่วงวันที่ 7 – 9 ส.ค. 67 ประมาณ 1.0 – 2.0 ม. ยังคงต่ำกว่าตลิ่ง 2.0 – 3.3 ม.
บริเวณสถานีอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ และ สถานีโขงเจียม จ.อุบลราชธานี ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในช่วงวันที่ 7 – 10 ส.ค. 67 ประมาณ 1.5 – 2.0 ม. ยังคงต่ำกว่าตลิ่ง 3.3 ม.
4. แนวทางบริหารจัดการน้ำ : วานนี้ (7 ส.ค. 67) นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยที่ประชุมรับทราบนโยบายและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ซึ่งขอให้ทุกหน่วยเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการแจ้งเตือนข้อมูลล่วงหน้า โดยมีเป้าหมายคือประชาชนในพื้นที่จะต้องได้รับข้อมูลที่ถูกต้องล่วงหน้าเพื่อการเตรียมตัวได้ทันเกิดผลกระทบและความเสียหายน้อยที่สุด รวมทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา สทนช. ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ฝน น้ำท่วม และดินโคลนถล่มที่ จ.น่าน และถอดบทเรียนการทำงานของหน่วยงานเพื่อปรับปรุงระบบการแจ้งเตือนในพื้นที่ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี สำหรับการประชุมวันนี้จึงได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานในการให้ความร่วมมือส่งต่อการแจ้งเตือนให้แม่นยำและรวดเร็ว ซึ่งควรมีเจ้าหน้าที่ทำงานในพื้นที่เตรียมพร้อมรับทุกสถานการณ์และเข้าช่วยเหลือประชาชนได้ทันที นอกจากนี้ ในการเฝ้าระวังในพื้นที่เสี่ยงและแหล่งน้ำต่าง ๆ ได้ขอความร่วมมือทุกหน่วยงาน เร่งปรับปรุงสถานีตรวจวัดระดับน้ำที่ชำรุดให้สามารถทำงานได้และแจ้งเตือนประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพให้ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่
สำหรับสถานการณ์น้ำในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบให้ประเทศไทยเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ และที่ประชุมได้คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยจากฝนตกสะสมและฝนคาดการณ์ล่วงหน้า ช่วงวันที่ 7 – 9 ส.ค. 67 พบในพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.นราธิวาส จึงขอให้หน่วยงานและประชาชนเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ล่วงหน้าด้วย ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์คาดการณ์ พบว่าในช่วงปลายปีแนวโน้มสภาวะลานีญาจะลดลง จึงจะหารือร่วมกับหน่วยงานประเมินสถานการณ์และวางแผนบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
5. สถานการณ์น้ำท่วม วันที่ 7 ส.ค. 67 ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย (อ.เวียงชัย และเทิง) จ.พะเยา (อ.เชียงคำ และภูซาง) จ.เลย (อ.ภูหลวง) จ.เพชรบูรณ์ (อ.หล่มสัก) จ.ปราจีนบุรี (อ.บ้านสร้าง) และกรุงเทพมหานคร (เขตวังทองหลาง)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 7 ส.ค. 67