สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 30 ก.ค. 67
1. สรุปสถานการณ์น้ำ และปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.น่าน (68 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.อุบลราชธานี (89 มม.) ภาคกลาง : กรุงเทพมหานคร (74 มม.) ภาคตะวันออก : จ.จันทบุรี (147 มม.) ภาคตะวันตก : จ.กาญจนบุรี (52 มม.) ภาคใต้ : จ.นครศรีธรรมราช (57 มม.)
สภาพอากาศวันนี้ : ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือและประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่บริเวณภาคตะวันออก
คาดการณ์ : ช่วงวันที่ 31 ก.ค. – 4 ส.ค. 67 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านประเทศเมียนมาและลาวตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย จะทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลงแต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 54% ของความจุเก็บกัก (43,238 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 33% (19,009 ล้าน ลบ.ม.)
3. การแจ้งเตือนเฝ้าระวัง : 1. แจ้งเตือนเฝ้าระวัง ผลกระทบจากระดับน้ำผันผวน และเศษซากไม้ในแม่น้ำโขง ช่วงวันที่ 28 ก.ค. – 1 ส.ค. 67 เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 67 เกิดอุทกภัยในพื้นที่แขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งมีเศษซากไม้ลอยน้ำในแม่น้ำโขงจำนวนมาก จึงขอให้ประชาชนบริเวณริมแม่น้ำ จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี เฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นและเศษซากไม้ลอยในแม่น้ำโขง
2. แจ้งเตือนเฝ้าระวัง คลื่นลมบริเวณฝั่งอ่าวไทย ช่วงวันที่ 29 ก.ค. – 3 ส.ค. 67 เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมประเทศไทยและอ่าวไทย ทำให้คลื่นบริเวณอ่าวไทยตอนบน สูง 1 – 2 เมตร โดยบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองจะมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร จึงขอให้เฝ้าระวังคลื่นซัดฝั่งที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชน และผู้ประกอบกิจการ บริเวณแนวชายฝั่งทะเล รวมทั้งประมงชายฝั่งตั้งแต่ จ.ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
4. การบริหารจัดการน้ำ : นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะโฆษก สทนช. กล่าวถึงปัญหาอุทกภัย จ.จันทบุรี และตราด
สทนช. ได้ลงพื้นที่ จ.จันทบุรี และ จ.ตราด เพื่อใช้กลไกศูนย์อำนวยการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ที่ได้จัดตั้งขึ้นที่ จ.ระยอง บูรณาการหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่เพื่อระดมสรรพากำลังเข้าแก้ไขสถานการณ์อุทกภัยโดยเร็ว และได้นำรถโมบายหน่วยติดตามสถานการณ์น้ำเคลื่อนที่ของ สทนช. ที่สามารถติดตามรายงานข้อมูลสถานการณ์น้ำได้เป็นรายชั่วโมงไปประจำการเพื่อให้บริการข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ และประชาสัมพันธ์ข้อมูลสถานการณ์น้ำต่อไป
5. สถานการณ์น้ำท่วม วันที่ 29 ก.ค 67 ในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ จ.พิษณุโลก (อ.นครไทย) จ.ขอนแก่น (อ.ชุมแพ) จ.ชัยภูมิ (อ.ภูเขียว และเกษตรสมบูรณ์) จ.ร้อยเอ็ด (อ.ปทุมรัตต์ เกษตรวิสัย และสุวรรณภูมิ) จ.จันทบุรี (อ.เมืองฯ มะขาม และขลุง) จ.ตราด (อ.บ่อไร่ เขาสมิง และแหลมงอบ) จ.พระนครศรีอยุธยา (อ.เสนา และผักไห่) จ.กาญจนบุรี (อ.ท่ามะกา ทองผาภูมิ สังขละบุรี ไทรโยค และเมืองฯ) และ จ.ราชบุรี (อ.โพธาราม และเมืองฯ)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 29 ก.ค. 67