แฉแบงก์ตัวการทุบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
• ผู้ประกอบการสุดเซ็ง แบงก์ปฏิเสธสินเชื่อ
• เลิกทำบ้านราคาหลักล้าน เน้นปลูกคฤหาสน์
• ยกนิ้วเชียร์ต่างชาติซื้อบ้าน 99 ปี ดันตลาดคึก
นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันส่วนใหญ่หันมาทำที่อยู่อาศัยระดับบนมากขึ้นเพื่อเจาะกลุ่มกำลังซื้อสูงที่ยังมีความสามารถในการซื้อ และมีความเสี่ยงต่อการปฏิเสธสินเชื่อน้อย ประกอบกับการทำที่อยู่อาศัยในระดับราคาล้านต้นๆ เริ่มทำแล้วไม่คุ้มทุน และมีความเสี่ยงของการปฏิเสธสินเชื่อที่สูง
“สิ่งที่ผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กังวลคือ ผู้กู้ซื้อบ้านถูกแบงก์ปฏิเสธปล่อยกู้ ทำให้นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ต้องรับมาผิดชอบ และแบกภาระต่อไป”
ทั้งนี้ มองว่าหากมีหน่วยงานภาครัฐเช่น การเคหะแห่งชาติจะเข้ามาดูแลนำที่อยู่อาศัย มาช่วยในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยได้มีโอกาสในการเข้าถึงการมีที่อยู่อาศัยดีๆจะถือเป็นเรื่องที่ดี และต้องการสนับสนุนในเรื่องดังกล่าว
นายอุทัย อุทัยแสงสุข กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.แสนสิริ (SIRI) กล่าวว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันมีสถานการณ์ที่แย่ลงจากปัญหาเศรษฐกิจ กำลังซื้อของคนที่ชะลอลงมาก จากหนี้ครัวเรือนที่สูง แต่ยังพอมีความหวังว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ จะโตขึ้นได้มาที่ระดับ 2-2.5% ส่งผลบวกต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่จะเติบโตล้อไปกับการเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กลับมาดีขึ้นได้บ้าง
ส่วนกรณีรัฐบาลผลักดันให้ขยายเวลาการเช่าโครงการของต่างชาติเป็น 99 ปี ยอมรับว่า หากมีมาตรการดังกล่าวก็จะทำให้นักลงทุนสนใจเรามากขึ้น และยังเพิ่มกำลังซื้อของชาวต่างชาติได้ด้วย ถือเป็นเรื่องที่ดีต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในภาพรวม
นางเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ (SENA) กล่าวว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันยังเผชิญกับความท้าทายจากผู้ซื้อหลักในประเทศที่ยังติดปัญหาของการกู้ยืมสินเชื่อ ที่ถูกปฏิเสธสินเชื่อมากขึ้น ส่วนหนึ่งของสาเหตุหลีกเลี่ยงไม่ได้จากหนี้สินครัวเรือนที่สูงถึง 90% ของจีดีพี ที่ทำให้สถาบันการเงินต้องเข้มงวดในการให้สินเชื่อ และผู้ซื้อเองก็ชะลอการตัดสินใจซื้อ เพราะไม่มั่นใจว่าเมื่อตัดสินใจจองไปแล้วจะกู้ผ่านและมีกำลังในการชำระคืนหนี้ไหวไหม
ขณะเดียวกันคนที่มีกำลังซื้อบ้านหลังที่ 2 หรือหลังที่ 3 ก็ติดปัญหาเกณฑ์ LTV ก็ทำให้การตัดสินใจซื้อชะงักไปชั่วคราว จากเกณฑ์ดังกล่าวที่ต้องใช้เงินในการซื้อที่อสู่อาศัยมากขึ้น ทำให้กลุ่มที่มีความพร้อมและมีกำลังซื้อชะลอการซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 และ 3 ออกไป ซึ่งหากมองที่วัตถุประสงค์การซื้อ บางคนอยากซื้อที่อยู่ใหม่ให้พ่อแม่ หรือขยับขยายที่อยู่ ไม่ใช่การซื้อเพื่อเก็งกำไร จึงอยากให้มีการทบทวนยกเว้นเกณฑ์ LTV ชั่วคราว เพราะยุคนี้แทบไม่มีคำว่าเก็งกำไรแล้ว และราคาที่ดินก็ปรับขึ้นต่อเนื่อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : คลังเล็งยิงกระสุนกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์