สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 11 มิ.ย. 67
1. สรุปสถานการณ์น้ำ และสภาพอากาศวันนี้ : ปัจจุบันร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและประเทศลาว เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนตกหนักมากบางพื้นที่
คาดการณ์ : ในวันที่ 12–15 มิ.ย. 67 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือและประเทศลาวตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง
2.สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 50% ของความจุเก็บกัก (40,466 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 28% (16,293 ล้าน ลบ.ม.) การประเมินสถานการณ์แหล่งน้ำเฝ้าระวังน้ำน้อย 3 แห่ง ได้แก่ ภาคเหนือ: สิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จุฬาภรณ์ ภาคตะวันตก: ปราณบุรี
3.คุณภาพน้ำ : น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานน้ำเพื่อการเกษตร
แม่น้ำท่าจีน ณ สถานีประตูระบายน้ำปากคลองจินดา อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
แม่น้ำแม่กลอง ณ สถานีอัมพวา อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
แม่น้ำบางปะกง ณ สถานีวัดบางคาง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
4. ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ : 4.1 ประกาศ สทนช. ฉบับที่ 6/2567 ลงวันที่ 2 มิ.ย. 67 เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 4 –11 มิ.ย. 67 มีพื้นที่เฝ้าระวัง ดังนี้
ภาคเหนือ จ.เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง พะเยา น่าน ตาก พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ ชัยภูมิ ขอนแก่น และอุบลราชธานี
ภาคตะวันตก จ.กาญจนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี
ภาคตะวันออก จ.ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
4.2 สทนช. แจ้งเตือนเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูง ช่วงวันที่ 6 – 12 มิ.ย. 67 เนื่องจากอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูง และคาดว่าจะมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง เสี่ยงน้ำท่วมบริเวณชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ
5. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ: เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 67 คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้เห็นชอบโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนและการส่งเสริมความมั่นคงด้านน้ำอุปโภค เพื่อรองรับสถานการณ์ในปัจจุบันของประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่สภาวะลานีญา ที่คาดการณ์ว่ามีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มขึ้นในช่วงกลาง-ปลายฤดูฝน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักสูงกว่าค่าเฉลี่ย และอาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมในบางพื้นที่ได้ จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว ตลอดจนรองรับพื้นที่ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำด้านอุปโภคบริโภคด้วยนั้น
สทนช. จึงเดินหน้าเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจในหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องให้แก่หน่วยงาน ที่จะต้องเสนอแผนงาน/โครงการในการขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝน และการส่งเสริมความมั่นคงด้านน้ำอุปโภค ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆ จังหวัด และ อปท. ที่มีแผนงาน/โครงการอยู่แล้ว แต่ไม่สามารถปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีมาดำเนินการได้ หรือไม่มีงบเหลือจ่ายเพียงพอ หรือไม่มีงบประมาณจากแหล่งอื่นมาดำเนินการ สามารถเสนอแผนงาน/โครงการดังกล่าว เพื่อขอรับจัดสรรงบประมาณ แต่จะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับแผนงาน/โครงการที่ได้รับงบประมาณดำเนินการแล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 10 มิ.ย. 67