กรมสรรพสามิตลุยจับบุหรี่เถื่อน 8 เดือน สั่งปรับทะลุ 250 ล้านบาท
สรรพสามิต จับบุหรี่เถื่อนกว่า 4 หมื่นซองซุกในกล่องพัสดุ ปรับเงินกว่า 46 ล้านบาท เผยผลปราบปรามจับคดีบุหรี่เถื่อนเพิ่ม 32 % ใน 8 เดือนแรกปีงบประมาณ 2567
นางสาว นิตยา โสรีกุล รองอธิบดีกรมสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่สายตรวจสรรพสามิตสำนักตรวจสอบป้องกันและปราบปราม กรมสรรพสามิต ได้ทำการสืบพบพฤติการณ์ลักลอบกระทำผิดกฎหมายสรรพสามิตจากเครือข่ายออนไลน์ โดยขนส่งสินค้ามิชอบด้วยกฎหมายผ่านศูนย์กระจายสินค้า จึงได้เดินทางไปตรวจสอบกล่องพัสดุไปรษณีย์ต้องสงสัยที่ศูนย์ไปรษณีย์ด่วนพิเศษกรุงเทพ (ศป.EMS) เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร พบภายในกล่องมียาสูบที่ไม่ได้ชำระภาษี จำนวน 413 กล่อง รวมทั้งสิ้น 49,322 ซอง มูลค่าภาษี 3,097,422 บาท มูลค่าสินค้า 4,749,708.60 บาท เปรียบเทียบปรับตามมาตรา 204 แห่งพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มีไว้เพื่อขายซึ่งสินค้าที่เป็นสินค้าที่มิได้เสียภาษี เป็นเงิน 46,461,324 บาท เมื่อวันที่ 29 ต่อเนื่องถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2567
นางสาว นิตยา กล่าวว่า การตรวจยึดและจับบุหรี่เถื่อนที่ไม่ได้ชำระภาษีในครั้งนี้ เป็นผลจากการที่กรมสรรพสามิตทำงานเชิงรุก ตามนโยบายของ ดร. เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต ในการตรวจสอบ สืบค้น ด้วยกำลังคนและการใช้เทคโนโลยีเข้ามายกระดับการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การมีศูนย์ปราบปรามสินค้าผิดกฎหมายออนไลน์ ช่วยสืบค้นการกระทำผิดในรูปแบบใหม่ๆ ใช้ช่องทางออนไลน์ในการซื้อขายสินค้าที่ไม่ได้ชำระภาษี การบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานภายในและหน่วยงานภายนอก ก่อให้เกิดการดำเนินงานที่เกิดประสิทธิภาพสูงในการปราบปรามและจับกุมขบวนการผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการดำเนินการในครั้งนี้เป็นการบูรณาการความร่วมมือร่วมกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จนสามารถตรวจยึดยาสูบที่ไม่ได้ชำระภาษีเป็นจำนวนมาก
นางสาว นิตยา โสรีกุล กล่าวเพิ่มว่า การยกระดับการทำงานเชิงรุกทั้งระบบ ด้วยการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ในการดำเนินงานด้านการปราบปราม การมีศูนย์ปราบปรามออนไลน์ และการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภายในและหน่วยงานภายนอก เพื่อปฏิบัติภารกิจในการปราบปรามและจับกุมขบวนการผู้กระทำผิด
ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ส่งผลให้การปราบปรามของกรมสรรพสามิตในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 21,074 คดี เพิ่มขึ้นจากเดิม 9% โดยมีสินค้ายาสูบมิชอบด้วยกฎหมาย มียอดการปราบปรามเพิ่มขึ้นถึง 32% สำหรับเงินค่าปรับนำส่งคลังนั้น มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 263.70 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปีก่อนถึง 27.73% โดยมีรายละเอียดแยกตามรายสินค้า ดังนี้
1. สุรา จำนวน 10,639 คดี ปรับเป็นเงินส่งคลัง 59.52 ล้านบาท
2. ยาสูบ จำนวน 8,055 คดี ปรับเป็นเงินส่งคลัง 133.38 ล้านบาท
3. น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน จำนวน 896 คดี ปรับเป็นเงินส่งคลัง 33.61 ล้านบาท
4. สินค้าอื่น ๆ จำนวน 1,484 คดี ปรับเป็นเงินส่งคลัง 37.19 ล้านบาท
สำหรับการปราบปรามคดีคุณภาพของกรมสรรพสามิต (ซึ่งเป็นคดีที่มีของกลางเป็นจำนวนมากตามเกณฑ์ที่กรมสรรพสามิตกำหนดไว้) ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณนั้น มีจำนวนทั้งสิ้น 578 คดี แบ่งออกเป็น สินค้ายาสูบ จำนวน 293 คดี สุรา จำนวน 80 คดี น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน จำนวน 71 คดี และสินค้าอื่น ๆ จำนวน 134 คดี
หากประชาชนท่านใดทราบเบาะแสหรือพบเห็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับสินค้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต สามารถแจ้งโดยตรงได้ที่กรมสรรพสามิต หรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือสายด่วน 1713 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรืออีเมล์ excise_hotline@excise.go.th
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : กรมสรรพสามิต โชว์จับน้ำมันเถื่อน 4 หมื่นลิตร