สัปดาห์ที่แล้ว มูลค่าซื้อ-ขายตลาดหุ้นไทยวูบ 27.60%
ดัชนีหุ้นไทยปิดบวกหลังร่วงลงแรงในสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะที่ จุดสนใจของนักลงทุนกลับมาอยู่ที่การประกาศ ผลประกอบการไตรมาส 1/2567 ของบจ.ไทย
หุ้นไทยทยอยฟื้นตัวตั้งแต่ต้นสัปดาห์ (หลังจากร่วงลงแรงแตะจุดต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปี 5 เดือนในสัปดาห์ก่อน)
ท่ามกลางแรงซื้อหลักๆจากกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากนักลงทุนคลายความกังวลบางส่วนต่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ส่งผลให้มีแรงซื้อคืนหุ้นหลายกลุ่ม นำโดย
กลุ่มแบงก์ซึ่งรายงานผลประกอบการไตรมาส 1/2567 ออกมาค่อนข้างดี กลุ่มไฟแนนซ์ก่อนขึ้นเครื่องหมาย XD
ตลอดจนกลุ่มโรงพยาบาล หลังผู้ประกอบการโรงพยาบาลรายใหญ่แห่งหนึ่งรายงานผลประกอบการไตรมาส 1/2567 ดีกว่าคาด
อย่างไรก็ดี กรอบการปรับขึ้นของหุ้นไทยเริ่มจำกัดในช่วงปลายสัปดาห์ หลังจากขยับขึ้นติดต่อกันหลายวันทำการและตอบรับปัจจัยบวกไปพอสมควรแล้ว
โดยจุดสนใจของตลาดยังอยู่ที่การทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 1/267 ของบจ. ไทยรวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนี PCE/Core Price Index เดือนมี.ค.ของสหรัฐฯ ในวันศุกร์ที่ 26 เม.ย. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ
1,359.94 จุด เพิ่มขึ้น 2.09% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน
ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 42,000.23 ล้านบาท ลดลง 27.60% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 2.27% มาปิดที่ระดับ 391.21 จุด
สัปดาห์ถัดไป (29 เม.ย.-3 พ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับ ที่ 1,350 และ 1,335 จุด ขณะที่ แนวต้าน อยู่ที่ 1,370 และ 1,385 จุด ตามลำดับ
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมเฟด (30 เม.ย.-1 พ.ค.) ทิศทางเงินทุนต่างชาติและผลประกอบการไตรมาส 1/2567 ของบจ.ไทย ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี
ISM/PMI ภาคการผลิตและภาคบริการข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานเดือนเม.ย. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2567 และดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนเม.ย. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนเม.ย.ของจีน ญี่ปุ่นและยูโรโซน