สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 23 เม.ย. 67
1. สภาพอากาศวันนี้ : ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบนทำให้ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ขณะที่มีลมตะวันตกเฉียงใต้และลมใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรงเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ส่วนภาคใต้ตอนล่างมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง
คาดการณ์ : วันที่ 24 – 27 เม.ย. 67 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้มีอากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ในขณะที่ลมตะวันตกเฉียงใต้และลมใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรงเกิดขึ้นบางพื้นที่ สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 55% ของความจุเก็บกัก (45,265 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 36% (21,249 ล้าน ลบ.ม.) การประเมินสถานการณ์แหล่งน้ำเฝ้าระวังน้ำน้อย 4 แห่งภาคเหนือ: สิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จุฬาภรณ์ ภาคตะวันออก: คลองสียัด ภาคกลาง : กระเสียว (ต้องเฝ้าระวังในช่วงฤดูแล้ง)
3.คุณภาพน้ำ : น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานน้ำเพื่อการเกษตร
แม่น้ำท่าจีน ณ สถานีประตูระบายน้ำปากคลองจินดา อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
แม่น้ำแม่กลอง ณ สถานีอัมพวา อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
แม่น้ำบางปะกง ณ สถานีวัดบางคาง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
4. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : วานนี้ (22 เม.ย. 67) คณะกรรมการลุ่มน้ำปิงมีมติให้ นายอนันต์ เพ็ชร์หนู ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 1 ในฐานะแทนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ปฏิบัติหน้าที่ประธานในการประชุม คณะกรรมการลุ่มน้ำปิง ครั้งที่ 3/2567 (เร่งด่วน) ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 มาตรา 16 วรรค 2 ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งที่ประชุมรับทราบผลการประชุมหน่วยบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1-3/2567 พร้อมทั้งร่วมกันพิจารณาให้ความเห็นต่อการผันน้ำจากลุ่มน้ำปิง เพื่อแก้ไขปัญหาสถานการณ์น้ำเค็มรุกล้ำเข้าคลองประเวศบุรีรมย์ ลุ่มน้ำบางปะกง ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการให้มีการปรับแผนการระบายน้ำของเขื่อนภูมิพล เพื่อช่วยเหลือแก้ไขปัญหาสถานการณ์น้ำเค็มรุกล้ำเข้าคลองประเวศบุรีรมย์ ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดสมุทรปราการ จากวันละ 25 ล้าน ลบ.ม/วัน เป็น 28 ล้าน ลบ.ม./วัน ตั้งแต่วันที่ 17 – 30 เม.ย. 67 และให้รายงานผลการระบายน้ำให้คณะกรรมการลุ่มน้ำทราบในการประชุมครั้งถัดไป