จีนเล็งอินโดฯจากค่าแรงต่ำ
อินโดนีเซียจะได้รับผลประโยชน์จากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของจีน เนื่องจากจีนพยายามปรับสมดุลด้วยการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศไปอยู่ที่ประเทศอื่นในเอเชียที่มีค่าแรงต่ำกว่า
อ้างอิงจากรายงานของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB)
ค่าแรงที่ต่ำในหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย นับเป็นความได้เปรียบที่ช่วยดึงดูดการลงทุนจากจีน ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากการพึ่งพาการผลิตและอุตสาหกรรมหนักไปสู่เศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการบริโภคมากขึ้น อ้างอิงจากความเห็นของนายชาง จิน เว่ย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำ ADB
“ จีนมีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนผ่านการพึ่งพาแรงงานในภาคสิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ และอื่นๆ นี่แสดงให้เห็นถึงโอกาสครั้งใหญ่สำหรับประเทศที่มีค่าแรงต่ำกว่า โดยอินเดีย บังคลาเทศ อินโดนีเซีย ต่างต้องการดึงผลประโยชน์เหล่านี้เข้าประเทศของตน ” เขากล่าวในการประชุมที่นครซิดนีย์ เมื่อวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ค่าแรงขั้นต่ำของจีนแตกต่างกันไปทั่วทั้งประเทศ จาก 1,000 หยวนต่อเดือนในบางพื้นที่ของเขตปกครองตนเองกวางซีจ้วงจนถึง 2,190 หยวนต่อเดือนในนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางการเงินที่สำคัญของจีน
สำนักสถิติแห่งอินโดนีเซียรายงานข้อมูลว่า ในอินโดนีเซีย ค่าแรงขั้นต่ำรายเดือนอยู่ระหว่าง 1.43 ล้านรูเปียห์ในเขตเมืองนูซา เทงการาตะวันออกไปจนถึง 3.1 ล้านรูเปียห์ในกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย
นายเว่ยกล่าวว่า “ การปรับขึ้นค่าแรงเป็นเรื่องดีสำหรับคนทำงาน แต่ก็หมายถึงว่ามีหลายประเทศที่จีนเคยเป็นคูแข่งในการผลิต ทั้งชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ของเล่น เสื้อผ้าและอื่นๆ ซึ่งกลายเป็นว่าตอนนี้จีนสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้น้อยลง เมื่อ10 ปีก่อนค่าแรงคนงานในจีนต่ำกว่าประเทศอื่นๆเกือบครึ่งโลก แต่ปัจจุบัน ค่าแรงในจีนสูงกว่าส่วนใหญ่ของประเทศกำลังพัฒนา “
ดังนั้น เพื่อเป็นการชิงความได้เปรียบจากการปรับโครงสร้างของจีน อินโดนีเซียต้องมีการปฏิรูปเชิงนโยบายที่สอดคล้องกันและมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีขึ้นกว่านี้
เขาให้ความเห็นว่า “ อินโดนีเซียต้องมีการปฏิรูปเชิงนโยบายเพื่อทำให้ง่ายขึ้นสำหรับบริษัทในประเทศและบริษัทต่างชาติในการดำเนินการทางธุรกิจ เมื่อใดที่ทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง ก็จะสามารถพลิกฟื้นเรื่องค่าแรงต่ำให้กลายเป็นข้อได้เปรียบของประเทศได้ ”
ทั้งนี้ อินโดนีเซียอยู่ในอันดับที่ 109 จาก 189 ประเทศทั่วโลกจากการจัดอันดับในดัชนีชี้วัดความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก ตามหลังประเทศศรีลังกาและเคนยา ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด หรือที่เรียกกันว่า ‘ โจโควี่ ’ ให้คำมั่นว่า จะพัฒนาทุกตารางนิ้วของประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วยจำนวนเกาะมากกว่า 17,000 เกาะ โดยการสร้างถนนและท่าเรือให้มากขึ้น และสนับสนุนการให้ประชาชนเข้าถึงไฟฟ้าให้มากขึ้น.
หมายเหตุ 1 หยวน = 5.27 บาท / 1,000 รูเปียห์ = 2.79 บาท / 19 ก.ย.2559