8 มหาเศรษฐีกินรวบครึ่งโลก
มหาเศรษฐีชั้นนำ 8 คนเป็นเจ้าของทรัพย์สินถึงครึ่งหนึ่งของประชากรทั่วโลก ซึ่งเป็นระดับความไม่เท่าเทียมกันซึ่งเป็นภัยร้ายที่แยกสังคมของโลกเราออกจากกัน อ้างอิงจากรายงานของ Oxfam เมื่อวันที่ 16 ม.ค.
ซึ่งถูกเผยแพร่ออกมาก่อนเปิดการประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอส
โดยทรัพย์สินของผู้คนที่ยากจนที่สุด 3,600 ล้านคนทั่วโลกมีมูลค่าเท่ากับความร่ำรวยและทรัพย์สินของมหาเศรษฐี 6 คนจากสหรัฐฯ หนึ่งคนจากสเปน และอีกหนึ่งคนจากเม็กซิโก
อ้างอิงจากรายงานของนิตยสารฟอร์บส์ รายชื่อของมหาเศรษฐีชั้นนำเหล่านี้จากสหรัฐฯ คือ บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ร่วมก่อตั้งโซเชียลมีเดียชื่อดังอย่างเฟซบุ๊ก และเจฟ บีซอส ผู้ก่อตั้งอี-คอมเมิร์ซชั้นนำของโลกอย่างอเมซอน
ทาง Oxfam ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงที่สัมพันธ์กันระหว่างช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างคนรวยกับคนจน และความไม่พอใจที่เพิ่มขึ้นกับระบบการเมืองการปกครองหลักในหลายประเทศทั่วโลก
“ จากเบร็กซิทถึงความสำเร็จของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ก่อให้เกิดความกังวลเพิ่มขึ้นเรื่องการเหยียดผิวและความท้อแท้กับระบบการเมืองหลักที่ขยายวงกว้างขึ้น มีสัญญาณเพิ่มขึ้นว่าผู้คนที่ทวีจำนวนมากขึ้นในประเทศที่ร่ำรวยจะไม่ยอมทนต่อสถานการณ์ที่เป็นอยู่อีกต่อไป” Oxfam เขียนไว้ในรายงานฉบับใหม่ชื่อ “เศรษฐกิจสำหรับ 99%”
ทางมูลนิธิ Oxfam รายงานว่า ข้อมูลล่าสุดในประเด็นการกระจายความร่ำรวยจากประเทศอย่างจีน และอินเดีย ทำให้ต้องมีการปรับแก้การคิดคำนวณของมูลนิธิใหม่ โดยกล่าวว่า เมื่อหนึ่งปีก่อน ทรัพย์สินของประชากรครึ่งโลกอยู่ในมือของมหาเศรษฐีชั้นนำ 62 คน
ความไม่เท่าเทียมกันเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญในหัวข้อการประชุมระหว่างผู้นำทางการเมืองจากหลายประเทศกับนักธุรกิจชั้นนำที่เมืองดาวอส ในวันที่ 17 – 20 ม.ค. นี้ โดยจะมีผู้เข้าร่วมในการประชุมประจำปีของ World Economic Forum ครั้งนี้ถึง 3,000 คน
“ การตอบสนองและการเป็นผู้นำที่มีความรับผิดชอบ” ได้ถูกเลือกให้เป็นธีมสำคัญของการประชุมครั้งนี้โดยสิ่งที่ทางผู้จัดการประชุมกล่าวคือ การตอบสนองที่จะเป็นการตอบโต้ระบบโลกาภิวัตน์ที่นำไปสู่การโหวตออกเสียงที่ให้ผลลัพธ์ที่น่าประหลาดใจทั้ง 2 ครั้ง และการเพิ่มขึ้นของประชานิยมในกลุ่มประเทศตะวันตก
โดยในรายงาน ทาง Oxfam เรียกร้องให้มีการปรับขึ้นภาษีที่ตั้งเป้าไปที่มหาเศรษฐีแต่ละคนและกลุ่มบริษัทที่ร่ำรวย รวมถึงการทำข้อตกลงทั่วโลกเพื่อหยุดยั้งการแข่งขันในหลายประเทศที่จะปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงมา
ทั้งนี้ ทางมูลนิธิยังได้วิพากษ์ถึงการล็อบบี้จากกลุ่มทุนและความใกล้ชิดระหว่างธุรกิจและการเมือง และได้เรียกร้องให้ประชาคมโลกมีกฎระเบียบข้อบังคับที่เคร่งครัดมากยิ่งขึ้นในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน.