ยอดผู้เสียชีวิตโรคหัวใจสหรัฐพุ่ง เอี่ยวโควิด
เกือบ 3 สัปดาห์ก่อนจะมีรายงานว่าโควิด-19 ได้แพร่ระบาดในสหรัฐ นางแพทริเซีย คาเบลโล ดาวด์ วัย 57 ปี เสียชีวิตในห้องครัวที่บ้านของเธอในเมืองซานโฮเซ รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยเธอเคยบ่นเรื่องอาการปวดเมื่อยตามร่างกายและมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่เมื่อหลายวันก่อน แต่ไม่มีอะไรอธิบายได้ว่าทำไมเธอถึงเสียชีวิตกะทันหันขนาดนี้
ผลการทดสอบในห้องปฏิบัติการในอีก 10 สัปดาห์ให้หลังพบว่า นางดาวด์ เป็นหนึ่งในผู้ป่วยโควิด-19 คนแรก ๆ ของสหรัฐที่มีอาการรุนแรงถึงชีวิต โดยอาการอักเสบในกล้ามเนื้อหัวใจนำไปสู่การฉีกขาดของกล้ามเนื้อขนาดเท่านิ้วมือ ซึ่งเป็นสาเหตุของการตกเลือดจนถึงแก่ชีวิต
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า การเสียชีวิตของนางดาวด์นับเป็นลางบอกเหตุที่น่าตกใจที่เผยให้เห็นว่า โควิด-19 ไม่เพียงแต่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในรอบศตวรรษเท่านั้น แต่ยังกระตุ้นให้เกิดอาการป่วยทางระบบหัวใจและหลอดเลือดและเมตาบอลิซึมอย่างร้ายแรงอีกด้วย
จากการวิเคราะห์ข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) สำนักข่าวบลูมเบิร์กพบว่า ในช่วงปี 2563-2565 ชาวสหรัฐที่มีอายุมากกว่า 35 ปีจำนวนกว่า 250,000 ราย เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่าที่คาดการณ์ไว้โดยพิจารณาจากแนวโน้มในอดีต ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นในปี 2566 บ่งชี้ว่า อัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองหลังปรับค่าตามอายุแล้ว สูงกว่าระดับก่อนโควิด-19 ระบาดเกือบ 5% ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตที่มีความเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดปกติ ลิ่มเลือด เบาหวาน และไตวายนั้นสูงขึ้น 15-28%
ซูซาน เฉิง แพทย์โรคหัวใจและผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านสาธารณสุขจากสถาบันสมิธ ฮาร์ท (Smidt Heart Institute) ของศูนย์การแพทย์ซีดาร์-ไซนาย (Cedars-Sinai) ในลอสแองเจลิสกล่าวว่า “ผลกระทบต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) นั้นล้ำลึก ยาวนาน และไม่ธรรมดา ไม่ธรรมดาจริง ๆ”
นายโรเบิร์ต แอนเดอร์สัน หัวหน้าสาขาการวิเคราะห์ทางสถิติและการเฝ้าระวัง ศูนย์สถิติสุขภาพแห่งชาติของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค กล่าวว่า “จากข้อมูลที่เรามี เราไม่สามารถเชื่อมโยงขอบเขตของสิ่งเหล่านั้นได้อย่างชัดเจน”
ทั้งนี้ การเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจในสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.8% ในปี 2563 ซึ่งนับว่ามากที่สุดในรอบกว่า 30 ปี
การทำความเข้าใจความเชื่อมโยงดังกล่าวจะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถบรรเทาความเสียหายได้ ไม่ว่าจะด้วยการทำให้ระบบสุขภาพมีความยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการหยุดชะงักอันเกิดจากการระบาดในอนาคต หรือยกระดับการตรวจคัดกรองสุขภาพเพื่อค้นหาผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบ และดำเนินการรักษาโควิด-19 ด้วยวิธีที่ป้องกันหัวใจได้มากขึ้น
นอกจากนี้ การทำความเข้าใจความเชื่อมโยงยังช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายเข้าใจผลที่ตามมาจากการแพร่ระบาด ซึ่งรวมถึงค่ารักษาพยาบาลได้อย่างถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น โดยคาดการณ์ของสมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกาเมื่อปี 2560 ระบุว่า ค่ารักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดจะมีมูลค่าอยู่ที่ 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2578 โดยตัวเลขดังกล่าวคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากการแพร่ระบาดเมื่อไม่นานมานี้
ทั้งนี้ ชาวสหรัฐเกือบ 700,000 รายเสียชีวิตจากโรคหัวใจในปี 2563 เพียงปีเดียว มากกว่าปีใด ๆ นับตั้งแต่ปี 2544 ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 703,000 รายในอีกปี 2 ต่อมา