ไทย-กัมพูชา เอ็มโอยู 5 ฉบับ
ไทย-กัมพูชา ลงนามและแลกเปลี่ยน MoU 5 ฉบับ ยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็น “หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์” พร้อมส่งเสริมความร่วมมือทุกมิติ
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง และสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนต (Samdech Moha Borvor Thipadei Hun Manet) นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามและแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจ 5 ฉบับ ดังนี้
1.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการรับมือเหตุฉุกเฉินระหว่างไทยกับกัมพูชา (MoU between the Ministry of Interior of the Kingdom of Thailand and the National Committee for Disaster Management of the Kingdom of Cambodia on Cooperation in the Area of Disaster Risk Reduction and Emergency Response) ซึ่งผู้ลงนามฝ่ายไทยคือ นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และฝ่ายกัมพูชา คือ H.E. General Kun Kim รัฐมนตรีอาวุโส และรองประธานคณะกรรมการบริหารจัดการภัยพิบัติแห่งชาติกัมพูชา (Senior Minister and First Vice-President of National Committee for Disaster Management of Cambodia)
2.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กับกระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมกัมพูชา (MoU Between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of the Kingdom of Cambodia on Academic, Scientific and Technological Cooperation) ซึ่งผู้ลงนามฝ่ายไทยคือ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และฝ่ายกัมพูชา คือ H.E. Hem Vanndy รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมกัมพูชา (Minister of Industry Science, Technology and Innovation)
3.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการผ่านแดนสินค้าระหว่างกรมศุลกากรแห่งราชอาณาจักรไทยและกรมศุลกากรและสรรพสามิตแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา (MoU on the Transit of Goods between the Customs Department of the Kingdom of Thailand and the General Department of Customs and Excise of Cambodia) ซึ่งผู้ลงนามฝ่ายไทย คือ นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร และฝ่ายกัมพูชา คือ H.E. Dr. Kun Nhem รัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี และกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา (Minister Attached to Prime Minister and the General Department of Customs and Excise of Cambodia)
4.บันทึกความเข้าใจระหว่าง ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยและหอการค้ากัมพูชา เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและกัมพูชา (MoU between Export-Import Bank of Thailand and the Cambodia Chamber of Commerce to promote trade and investment between Thailand and Cambodia) ซึ่งผู้ลงนามฝ่ายไทย คือ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM Bank และฝ่ายกัมพูชา คือ Neak Okhnha Kith Meng ประธานหอการค้ากัมพูชา
5.บันทึกความเข้าใจระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้ากัมพูชา (MoU between Board of Trade of Thailand and Cambodia Chamber of Commerce) ซึ่งผู้ลงนามฝ่ายไทย คือ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าไทย และฝ่ายกัมพูชา คือ Neak Okhnha Kith Meng ประธานหอการค้ากัมพูชา
หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีไทยและกัมพูชาร่วมกันแถลงข่าว โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญการแถลงข่าว ดังนี้
ด้านความสัมพันธ์ ยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็น “หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์” ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ทำงานอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น และส่งเสริมศักยภาพของทั้งสองประเทศที่มีร่วมกัน และไทยจะเปิดสถานกงสุลใหญ่แห่งใหม่ในเมืองเสียมเรียบ ในขณะที่กัมพูชาจะเปิดสถานกงสุลใหญ่แห่งใหม่ในสงขลาภายในปีนี้
ด้านความมั่นคง โดยเฉพาะบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งไทยจะไม่ยอมให้ใครใช้ไทยเป็นพื้นที่ในการแทรกแซงกิจการภายใน หรือดำเนินกิจกรรมที่เป็นอันตรายต่อประเทศเพื่อนบ้าน และผู้นำทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องกันกระชับความร่วมมือต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะเครือข่ายหลอกลวงทางไซเบอร์
ด้านเศรษฐกิจ ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า ระดับรัฐมนตรีพาณิชย์ ครั้งที่ 7 ในต้นเดือนมีนาคม พร้อมทั้งมีนโยบาย quick win ในการนำ MOU ว่าด้วยการผ่านแดนสินค้าที่ได้ลงนามไปใช้ทันที เพื่อเพิ่มปริมาณการค้า โดยเฉพาะการค้าชายแดน รวมถึงยินดีกับการลงนาม MOU ระหว่าง EXIM Bank กับหอการค้ากัมพูชา ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการค้าและการลงทุนจากทั้งไทยและกัมพูชา
ด้านการพัฒนาพื้นที่ชายแดน ทั้งสองฝ่ายได้หารือและตกลงที่จะกระชับความร่วมมือในด้านความมั่นคงด้านพลังงาน มีการตกลงที่จะหารือเพิ่มเติมเพื่อแสวงหาประโยชน์ร่วมกันจากทรัพยากรไฮโดรคาร์บอนในพื้นที่เรียกร้องที่ทับซ้อนกันระหว่างทั้งสองประเทศ โดยผู้นำทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นในการเก็บทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมในพื้นที่นำร่อง เพื่อเป้าหมายในการทำให้พื้นที่ชายแดนปลอดภัย พร้อมทั้งดำเนินการยกระดับการเปิดจุดผ่านแดนไทย-กัมพูชาที่ยังคั่งค้าง รวมทั้งยินดีที่ได้ลงนาม MOU ว่าด้วยความร่วมมือในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการรับมือเหตุฉุกเฉิน ซึ่งจะเป็นการวางกรอบความร่วมมือเพื่อตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินในบริเวณชายแดน
ด้านการท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องในการรวมจุดแข็งด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาคเข้าด้วยกัน ผ่านโครงการ “หกประเทศ หนึ่งจุดหมายปลายทาง” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาค พร้อมปรับปรุงข้อตกลงว่าด้วยการข้ามชายแดน และจะกลับมาเจรจาความตกลงทวิภาคีว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนทางถนน เพื่อให้ข้ามพรมแดนด้วยรถยนต์ส่วนตัวได้
ปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดน โดยตกลงจัดตั้งคณะทำงานร่วม เพื่อจัดทำแผนความร่วมมือในการจัดตั้งสายด่วนแลกเปลี่ยนข้อมูลและการเตือนจุดที่มีการเผา ความร่วมมือในการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉิน และสร้างขีดความสามารถและแบ่งปันแนวปฏิบัติในการจัดการกับการเผาในเกษตรกรรม รวมถึงไทยได้เชิญกัมพูชาเข้าร่วมแผนปฏิบัติการ CLEAR Sky Strategy เพื่อส่งเสริมความร่วมมือการแก้ปัญหานี้ในระดับภูมิภาค
ด้านแรงงาน นายกรัฐมนตรียืนยันว่า ไทยให้ความสำคัญดูแลแรงงานทุกประเทศ รวมถึงชาวกัมพูชาในประเทศไทย ให้ได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมและการรองรับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เหมาะสม
สถานการณ์ในเมียนมา ไทยและกัมพูชาต่างต้องการที่จะเห็นเมียนมามีสันติสุข มั่นคง และเป็นเอกภาพ ซึ่งรัฐบาลจะแสดงบทบาทเชิงรุกให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนในเมียนมา และส่งเสริมการแก้ปัญหาอย่างสันติ โดยดำเนินความร่วมมือพร้อมกับอาเซียน
ในช่วงท้าย ผู้นำไทยและกัมพูชาเน้นย้ำถึงความสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับประชาชน โดยจะร่วมกันจัดกิจกรรมฉลองโอกาสครบรอบ 75 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2568 ซึ่งเน้นกิจกรรมที่ส่งเสริมความเข้าใจระหว่างประชาชน พร้อมทั้งยืนยันที่จะพบปะและหารือระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระชับความร่วมมือให้ใกล้ชิดต่อไป