เหมืองแร่ไทยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ ย้ำ “เหมืองแร่ไทยต้องอยู่บนหลักธรรมาภิบาล และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นเหมืองแร่ของประชาชนอย่างแท้จริง”
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะรองประธานกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ เป็นประธานเปิดกิจกรรม “Thailand Green and Smart Mining Forum 2024” ณ โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี โดยมีนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายกุศล โชติรัตน์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมเป็นสักขีพยานในการประกาศเจตนารมณ์ของผู้ประกอบการเหมืองแร่ ที่จะดำเนินกิจการอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีธรรมาภิบาล ให้สาธารณชนได้รับทราบโดยทั่วกัน
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กิจกรรม “Thailand Green and Smart Mining Forum 2024” เป็นกิจกรรมสำคัญของคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติที่จะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างภาคเอกชนและภาคประชาชน เพื่อให้การประกอบกิจการเหมืองแร่เป็น “เหมืองแร่ของประชาชน” ลดความขัดแย้งในการพัฒนาแร่ เกื้อกูลประโยชน์ร่วมกันระหว่างสถานประกอบการและชุมชน โดยกิจกรรมวันนี้ ได้นำมาตรการทางสังคมเชิงสร้างสรรค์ ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่และมาตรการทางกฎหมาย อาทิ เวทีให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่ได้ร่วมแสดงความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบและหลักธรรมาภิบาลเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การมอบรางวัล Thailand Green and Smart Mining Awards ให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้ประกอบการที่มีธรรมาภิบาลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการร่วมกันประกาศและลงนามในเจตนารมณ์การเป็นเหมืองแร่ที่มีธรรมาภิบาลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของผู้ประกอบการเหมืองแร่
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า รัฐบาลมีนโยบายผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแร่ เพื่อสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญ ได้แก่ การเกษตร เทคโนโลยีชั้นสูง และพลังงานหมุนเวียน การผลักดันให้สถานประกอบการเหมืองแร่มีการดำเนินการที่เป็นมาตรฐานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการทำเหมืองสมัยใหม่มาใช้ในการทำเหมือง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และเป็นไปตามกรอบแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 โดยกิจกรรมที่จัดในวันนี้เป็นการจัดกิจกรรมแบบ Net Zero คือ มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ด้วย
นายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวถึงรายละเอียดของกิจกรรม “Thailand Green and Smart Mining Forum 2024” ประกอบไปด้วย
การปาฐกถาหัวข้อ “การบริหารจัดการแร่อย่างยั่งยืนภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2” โดย นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
การมอบรางวัลผู้ชนะการประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์กิจกรรม Thailand Green and Smart Mining และรางวัล “Thailand Green & Smart Mining Awards 2023” ให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้ประกอบการที่มีธรรมาภิบาลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จำนวน 6 รางวัล ได้แก่
1. ประเภทกิจการเหมืองแร่ จำนวน 5 รางวัล ได้แก่
(1) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด
(2) บริษัท ปูนซีเมนต์เอเชีย จำกัด (มหาชน)
(3) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ทุ่งสง) จำกัด
(4) บริษัท ตรัง ยูซี จำกัด
(5) บริษัท ศิลาสานนท์ จำกัด
2. ประเภทกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับแร่ จำนวน 1 รางวัล ได้แก่
(1) บริษัท ตรัง ยูซี จำกัด
พิธีการประกาศเจตนารมณ์และลงนามการเป็นเหมืองแร่มีธรรมาภิบาลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของกิจการเหมืองแร่ไทย ครั้งที่ 3 ของผู้ประกอบการเหมืองแร่ จำนวน 10 ราย
การจัดนิทรรศการของผู้ประกอบการเหมืองแร่ที่ได้รับรางวัล และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวม 7 ราย
การนำเสนอแนวทางการประกอบกิจการของผู้ที่ได้รับรางวัล Thailand Green & Smart Mining Awards 2023 การบรรยาย เรื่อง “Net zero emissions” จากผู้แทนองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และการเสวนา เรื่อง “การประกอบกิจการเหมืองแร่ไทย มุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียวและสังคมคาร์บอนต่ำ” โดย ผู้ประกอบการเหมืองแร่