สมาคมธนาคารไทยยันแบงก์กำไรน้อย
ประธานสมาคมธนาคารไทย ยืนยันแบงก์กำไรต่ำหากเทียบต้นทุน ROA น้อยแค่ 1% แถมยังต้องสะสางหนี้เก่าจากวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี2540 อีกกว่า 6 แสนล้านบาท
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องธนาคารพาณิชย์มีผลกำไรในปี2566 มากกว่า 220,000 ล้านบาท จากอัตราดอกเบี้ยสูง ขณะที่ธุรกิจอื่นประสบปัญหาขาดทุนว่า ผลประ กอบการธุรกิจธนาคารใหญ่ที่มีมากถึง 200,000 ล้านบาท เกิดจากสินทรัพย์ขนาดใหญ่ 8.5 เท่าที่ลงทุนไปเมื่อเทียบกับบริษัททั่วไปที่มีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่เพียง 2-2.5 เท่า
รวมถึงยังมีต้นทุนด้านดิจิทัลที่ต้องลงทุนสูง แต่ไม่สามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมบริการบางประเภทได้ อย่าง เช่น การโอนเงินพร้อมเพย์ ทั้งๆ ที่ในต่างประเทศมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียม นอกจากนั้น ยังมีต้นทุนที่ต้องบริหารจัดการเงินสด จะเห็นว่าในช่วงดอกเบี้ยปรับขึ้นมาก็มีเงินไหลออกจากระบบธนาคารพาณิชย์ไปมาก
แม้ว่าส่วนต่างดอกเบี้ยจะถูกมองว่าสูง แต่ก็มีต้นทุนทางการเงินที่สูงเช่นกัน และมีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะหนี้ที่ไม่สามารถคืนได้ที่สูงกว่าประเทศอื่น กระบวนการใช้ทรัพยากรแม้ว่าจะเป็นระบบที่ใหญ่กว่าแต่ประสิทธิภาพน้อยกว่าเมื่อเทียบกับ industrial center ซึ่งถ้าดู ROA (อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์) จะเห็นว่าอยู่ในระดับต่ำเพียง 1% เท่านั้น
นอกจากนั้น ธนาคารพาณิชย์ยังต้องดูแลลูกหนี้กลุ่มเปราะบางอยู่ แม้ว่ามาตรการช่วยเหลือต่างๆ ของภาครัฐจะสิ้นสุดไปตั้งแต่ปี2566 แต่ขณะนี้มียอดหนี้ที่ธนาคารพาณิชย์รับดูแลอยู่ถึง 2.5 ล้านบัญชี วงเงินกว่า 1.8 ล้านล้านบาท
ส่วนกรณีที่ธนาคารออมสินนำร่องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนั้น นายผยง มองว่า ไม่ได้เป็นการกดดันธนาคารอื่นๆ ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยตาม แต่เป็นกลไกหนึ่งในการปรับเปลี่ยนทรัพยากรในระบบให้ตรงจุดเป้า หมายที่รัฐบาลเข้ามาดูแล แลกกับการที่ธนาคารภาครัฐก็จะส่งเงินรายได้เข้ารัฐน้อยลง แต่สำหรับธนาคารพาณิชย์ต้องดูแลตัวเอง จนถึงขณะนี้ยังมีภาระที่เข้าไปดูผลกระทบที่เกิดจากวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 40 เหลืออีก 600,000 ล้านบาท จึงต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังไม่ให้ตัวเองเป็นภาระของระบบ