นายกฯ มอบ “กิตติรัตน์” คุมแก้หนี้ทั้งระบบ
พี่โต้ง-กิตติรัตน์ ใหญ่จริง ขึ้นผงาดคุมแก้ไขทั้งระบบรวมถึงหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อกำหนดเงินเดือนคงเหลือสุทธิไม่น้อยกว่า 30%
รายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ทำหนังสือเวียนถึงหน่วยงานด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย แจ้งข้อสั่งการนากยรัฐมนตรีในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 19 ธ.ค. เป็นการดำเนินการ “เพิ่มเติม” ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบ
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เสนอว่า ตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของทุกภาคส่วน ซึ่งกระทรวงการคลังได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบต่อ ครม.แล้วนั้น เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว มีความชัดเจนและครบถ้วนมากยิ่งขึ้น จึงขอมอบหมายการดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ดังนี้
ให้ทุกส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ ปรับปรุงและกำหนดหลักเกณฑ์การหักเงินเดือน ทั้งเพื่อชำระหนี้เงินกู้ และค่าใช้จ่ายอื่นใดของบุคลากรในสังกัด โดยต้องมีเงินเดือนคงเหลือสุทธิเพื่อการดำรงชีพไม่นัอยกว่า 30% ตามแนวทางเดียวกับระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือนบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราขการและสหกรณ์ พ.ศ. 2551
ให้ประธานกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ประสานงานให้สถาบันการเงิน และสหกรณ์ออมทรัพย์ต่าง ๆ ที่เป็นเจ้าหนี้เงินกู้เพื่อสวัสดิการแก่บุคลากรของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อสวัสดิการให้ต่ำลง ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับระดับความเสี่ยงต่ำ จากการที่รัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาทำหน้าที่ประสานงานแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบ
ทั้งนี้ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมส่งเสริมสหกรณ์ กำกับดูแลให้สหกรณ์ออมทรัพย์ทุกแห่งที่เป็นเจ้าหนี้เงินกู้ เพื่อสวัสดิการแก่บุคลากรของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ ให้ความร่วมมือกับประธานกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยในการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ตามแนวทาง 1. กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อสวัสดิการให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น 2. กำหนดค่างวดเงินต้นให้เหมาะสม 3. ใช้ทุนเรือนหุ้นของลูกหนี้ เพื่อบรรเทาภาระหนี้เงินกู้ลงตามความจำเป็น