ระเบิดเวลาการเมือง 67 ทักษิณ พ้นคุก พิธา โดนสอย ก้าวไกลถูกยุบ
การเมืองก่อนเปิดศักราชใหม่ปี 2567 ร้อนระอุส่งท้ายปีเก่า 2566 ทั้งเรื่องความอยุติธรรม-ระบบสองมาตรฐานในกระบวนการ “ตาชั่ง” ไทย และคดีการเมืองที่อยู่ในมือศาลรัฐธรรมนูญ
ต้นเพลิง-ควันไฟพวยพุ่งออกมาจากโรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 ในห้องผู้ต้องโทษ-ผู้ป่วยพิเศษ แขกวีไอพีจากกรมราชทัณฑ์ “ทักษิณ ชินวัตร” นอนรักษาตัวครบ 120 วัน หลังศาลฏีกา สนามหลวง พิพากษาคดีทุจริตคอร์รัปชั่น 3 คดี ได้แก่ คดีเอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้รัฐบาลเมียนมาร์ คดีหวยบนดิน และคดีสัมปทานบริษัทชินคอร์ป รวม จำคุก 8 ปี แต่ขอพระราชทานอภัยโทษลดโทษเหลือจำคุก 1 ปี ทว่าตั้งแต่เดินทางกลับบ้านมาอย่างเท่ห์ ๆ เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2566 “นักโทษเด็ดขาด” ทักษิณยังไม่ได้นอนในเรือนจำแม้แต่คืนเดียว
ระเบียบนอนนอกคุกบันไดหนีไฟ-ทักษิณลุยไฟ?
กองไฟถูกกระพือให้ร้อนแรงขึ้น เมื่อถึงวันดีเดย์ 22 ธันวาคม 2566 ที่ทักษิณนอนอยู่โรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 ครบ 4 เดือน หรือ 1 ใน 4 ของโทษจำคุกทั้งหมด เข้าทางระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 ที่ประกาศเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 แต่ถูกปูทางมาตั้งแต่ปี 2563 ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาความแออัดของนักโทษในเรือนจำ-นักโทษล้นคุก ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน ในยุคที่มีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรมขณะนั้น และก็เป็นนายสมศักดิ์ รองนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันในรัฐบาลเศรษฐา ที่ออกมาเฉลยว่า ทักษิณเข้าหลักเกณฑ์-เงื่อนไข “คุมขังนอกเรือนจำ” จึงเป็น “ประตูหนีไฟ” เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯที่จะเปิดออก-เปิดทางให้นายทักษิณลุยไฟเข้าบ้านจันทร์ส่องหล้า
นอกจากการใช้ “ระเบียบนอนนอกคุก” เป็น “บันไดหนีไฟ” แล้ว ทักษิณ ยังมี “ช่องทางปกติ” โดยรอมหาฤกษ์ วัน ว. เวลา น. 22 กุมภาพันธ์ 2567 ที่จะครบ 6 เดือน ได้รับการปล่อยตัวให้คุมขังนอกเรือนจำได้โดยอนุมัติ โดยใช้หลักเกณฑ์พิเศษ-ทางลัด เป็นผู้ต้องขังที่มีออาการป่วยรุนแรง-อายุเกิน 70 ปี และได้รับโทษมาแล้วเกิน 1 ใน 3 ของโทษที่ได้รับทั้งหมด โดยไม่ต้องใช้ระเบียบกรมราชทัณฑ์ฉบับใหม่ ที่เปรียบเสมือนเป็น “ไพ่ไฟ”
บ้านจันทร์ส่องหล้าศูนย์รวมอำนาจแห่งใหม่
เป็นการประคอง-รักษาอำนาจไม่ให้ถูกสั่นคลอน เป็นเงื่อนไขเขย่ารัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน และถล่มพรรคเพื่อไทยที่มี อุ๊งอิงค์-แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวให้มีมลทินทางการเมือง จนกลายเป็น “โรคกำเริบ” เมื่อถึงวันที่ “น้องอิ๊งค์” ถือธงนำเลือกตั้ง เปิดหน้าชกเป็น “นายกฯชินวัตร คนที่3” และ “นารีขี่ม้าขาวคนที่2” ต่อจากยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นการตัดไฟเสียแต่ต้นลม ไม่ให้เป็นชนวนการเมืองจน “จุดติด” เป็นไฟลามทุ่งจากกรมราชทัณฑ์-โรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 ไปยังทำเนียบรัฐบาล-พรรคเพื่อไทยในวันข้างหน้า
การออกจากเรือนจำของทักษิณจะกลายเป็นแผ่นดินไหว-อาฟเตอร์ช็อกทางการเมือง สร้างแรงสั่นสะเทือนในกระดานอำนาจ หมากขุน-หมากเบี้ยทุกตัวจะขยับ ทั้งนักวิ่ง-นักเต้นรำการเมือง จะพาเหรดกันไปเยี่ยม “นักโทษเทวดา” กันเต็มสถานที่กักกันนอกคุกที่ถูกเนรมิตให้เป็นวิมานบนดิน จนหัวกระไดไม่แห้ง เป็น “จุดศูนย์กลางอำนาจ” แห่งใหม่ โดยมี “นายใหญ่-นายหญิง” เป็นผู้บัญชาเกมอำนาจ ณ กองบัญชาการจันทร์ส่องหล้า ไม่ใช่ “บ้านนรสิงห์” ทำเนียบรัฐบาล ที่เงียบเหงาเป็นป่าร้างอยู่แล้ว ให้กลายเป็นสุสานของคนที่ สส.ไม่ให้ความสำคัญ เพื่อรอวันเปลี่ยนตัวเล่น-เปลี่ยนไพ่ในมือ
3 คดีการเมืองเผือกร้อนในศาลรัฐธรรมนูญ
ขณะที่เมื่อนับถอยหลังเข้าสู่ปีใหม่ในเดือนม.ค. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินคดีเกี่ยวกับพรรคการเมือง-นักการเมืองคนสำคัญถึง 3 คดี คดีแรก “คดีถือหุ้นสื่อไอทีวี” ภายหลังคณะกรรมการการเลือกตั้งร้องนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พ้นสมาชิกภาพการเป็น สส. กรณีถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) โดยนายพิธาได้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา พร้อมแนบบัญชีระบุพยานเอกสาร พยานบุคคลและพยานวัตถุ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2566 และบัญชีระบุพยานบุคคลเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 วันที่ 18 ตุลาคม 2566 วันที่ 12 ธันวาคม 2566 เป็นวันสุดท้ายที่ศาลรัฐธรรมนูญอนุญาตขยายระยะเวลาจัดทำบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริง-ความเห็นล่วงหน้า ล่าสุด ศาลรัฐธรรมนูญได้ไต่สวนพยาน 3 ปากสุดท้าย เป็นอันเสร็จการไต่สวน โดยศาลนัดฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 24 มกราคม 2567 เวลา 14.00 น.
คดีที่สอง “คดีล้มล้างการปกครอง” กรณี “ธีรยุทธ สุวรรณเกษร” ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญข้อกล่าวหาว่า พรรคก้าวไกลใช้สิทธิหรือเสรีภาพล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กรณีเสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกมาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้อยู่ระหว่างพยานบุคคลส่งบันทึกถ้อยคำ ข้อเท็จจริง-ความเห็นภายในวันที่ 18 ธันวาคม 2566 และศาลพิจารณาคดีในวันที่ 20 ธันวาคม 2566 โดยกำหนดให้มีการไต่สวนพยานบุคคลในวันที่ 25 ธันวาคม 2566 หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ล้มเลิกการกระทำจะกลายเป็น “มูลเหตุ” ให้ “นักร้อง” ไปร้องให้ยุบพรรคก้าวไกลต่อไปในอนาคต อย่างน้อยผลทางการเมือง คือ เป็นการทำลายสมาธิพรรคก้าวไกล ไม่ให้ทำหน้าที่พรรคแกนนำฝ่ายค้านได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ถึงชกก็ชกได้ไม่เต็มหมัด ต้องคอยห่วงหน้าพะวงหลังแก้ต่าง “คดีล้มเจ้า”
ชนักปักหลังศักดิ์สยามหลุด–ปรับครม.เศรษฐ
อีกคดีที่จะเร่งเร้าอุณหภูมิทางการเมืองให้ทะลุจุดเดือด กรณี สส.54 คน ยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรให้ร้องศาลรัฐธรรมนูญ กรณีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ผู้ถูกร้องขณะดำรงตำแหน่งเป็นรมว.คมนาคม กระทำอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 187 ประกอบ พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 มาตรา 4 (1) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่ กรณียังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและยังคงเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นเจ้าของหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น
ศาลได้ไต่สวนพยาน 6 ปากสำคัญสุดท้าย โดยตอบข้อซักถามของศาลและของคู่กรณี คดีเป็นอันเสร็จ โดยศาลรัฐธรรมนูญกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ และลงมติวันที่ 17 ม.ค. 2567 พร้อมกับนัดฟังคำวินิจฉัย หากนายศักดิ์สยามถูกฟัน โทษสูงสุดคือ ตัดสิทธิ์รับสมัครเลือกตั้ง แต่ถ้านายศักดิ์สยาม รอดพ้นเงื้อมมือศาลรัฐธรรมนูญจะส่งผลต่อการปรับคณะรัฐมนตรีในโควตาพรรคภูมิใจไทย เพราะนายศักดิ์สยามเป็นเลขาธิการพรรค-น้องชาย นายเนวิน ชิดชอบ ครูใหญ่แห่งบุรีรัมย์ยูไนเต็ด และจะเป็นโดมิโนไปสู่เก้าอี้รัฐมนตรี 2 ตำแหน่ง ที่ว่างอยู่ ในสัดส่วนโควตาของพรรคเพื่อไทย 1 นั่ง และพรรคพลังประชารัฐอีก 1 ที่นั่ง ทั้งหมดเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ทางการเมืองที่รอวันปะทุในปี 2567