SCB EIC ชี้ก้าวต่อไปของเศรษฐกิจไทยท่ามกลางความไม่แน่นอน
เศรษฐกิจไทยในปี 2024 อาจต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในระดับสูง ปี 2024 เป็นอีกปีที่ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในระดับสูงต่อเนื่องจากหลายปัจจัย ดัชนีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2024 คาดว่าจะปรับลดลงจากปีนี้ แต่จะยังอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนเกิดโควิดถึง 24%
โดยเฉพาะจากปัจจัยความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและนโยบายการคลังไทย ซึ่งทั้งสองปัจจัยจะกระทบการส่งออกสินค้าของไทย 2%QOQ และการบริโภคภาคเอกชนไทย 1%QOQ ทันทีในไตรมาสนั้น ๆ ตามลำดับ ขณะที่เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินและการเมืองภายในประเทศที่ปรับลดลง สำหรับความไม่แน่นอนจากปัจจัยความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์แม้จะเป็นประเด็นเสี่ยงสำคัญในโลก แต่ผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทยผ่านการส่งออกสินค้ายังมีน้อย
ปี 2024 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่อเนื่องจากปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจหลายด้าน โดยเฉพาะการลงทุนและการส่งออกที่จะปรับดีขึ้น รวมถึงนโยบายกระตุ้นของภาครัฐ
SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2024 จะเติบโตต่อเนื่องที่ 3.5% และกลับไปแตะระดับศักยภาพเดิมได้ในช่วงต้นปี โดยมูลค่าส่งออกไทยจะกลับมาขยายตัวได้ 3.5% จากทิศทางการค้าโลกที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวได้บ้างและปัญหาคอขวดอุปทานคลี่คลายลง และการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 4.4% จากแนวโน้มการอนุมัติการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment : BOI) และการส่งออกที่กลับมาฟื้นตัว นอกจากนี้ โครงการ Digital wallet อาจช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยในปี 2024 เติบโตเกิน 5% ชั่วคราว แต่ต้องแลกด้วยหนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้นแตะเพดาน 70% เร็วขึ้นในระยะปานกลาง
เศรษฐกิจไทยในปี 2024 อาจต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
มองไปในปี 2024 โลกมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นและอาจส่งผลกระทบมายังประเทศไทยได้ในที่สุด SCB EIC คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2024 จะเติบโตได้ใกล้เคียงปีนี้อยู่ที่ 2.3% ซึ่งเติบโตชะลอลงจาก 3% ในปี 2022 กลุ่มประเทศต่าง ๆ จะมีแนวโน้มฟื้นตัวไม่พร้อมกัน (Unsynchronized) โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังขยายตัวได้อยู่แม้จะเผชิญดอกเบี้ยขึ้นแรงต่อเนื่องจนมาอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตดีขึ้นจากภาคบริการและแรงสนับสนุนของนโยบายเงินผ่อนคลายมากเป็นพิเศษ ภูมิภาคเอเชียจะยังเติบโตต่อเนื่อง ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปและจีนกลับเห็นสัญญาณขยายตัวชะลอลง โดยเฉพาะภาคการผลิต ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจโลกต้องเผชิญกับหลายปัจจัยเสี่ยงส่งผลให้ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกยังมีอยู่สูง เช่น เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้าจากปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาวที่ใช้เวลาแก้ไข ภาคอสังหาริมทรัพย์จีนซบเซาส่งผลลบต่ออุปสงค์ภายในประเทศจีน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่อาจเร่งตัวตามการลดอุปทานน้ำมันของ OPEC+ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกที่อาจยืดเยื้อรุนแรงขึ้น ภัยแล้งจากเอลนีโญที่อาจทำให้ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงผลกระทบจากแนวโน้มดอกเบี้ยที่จะอยู่ในระดับสูงนานต่อเสถียรภาพระบบการเงินโลก นอกจากนี้ โลกจะยังมีความไม่แน่นอนจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่ยืดเยื้อต่อเนื่อง ความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกประเทศจึงอาจส่งผลกระทบมายังความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทยได้ในทางหนึ่ง
นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยอาจเผชิญความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายในประเทศอีกด้วย แม้ความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศจะปรับลดลงหลังจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2023 แต่เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าจะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนด้านนโยบายการคลังไทยของรัฐบาลชุดใหม่ ทั้งจากชุดนโยบายระยะสั้นและระยะยาว สำหรับความไม่แน่นอนด้านนโยบายการเงินปรับลดลงบ้างหลังคณะกรรมการนโยบายการเงินสื่อสารไว้ในการประชุมปลายเดือนกันยายน 2023 ว่า การทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องจนถึงระดับ 2.5% เป็นระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวแล้ว
ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจของไทย
SCB EIC ได้สร้างดัชนีสะท้อนความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทยขึ้น (รูปที่ 1A) และพบว่าความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจของไทยกลับมาปรับสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2020 ดัชนีความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทยในงานศึกษานี้คำนวณได้จากความแปรปรวนแบบมีเงื่อนไข (Conditional variance) ของข้อมูล GDP ไทยโดยใช้แบบจำลองเศรษฐมิติ และนำมาแปลงให้อยู่ในรูปดัชนีมีค่าในช่วง 0 – 100 ผลศึกษาพบว่า ดัชนีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงปี 1993 – 2019 (ก่อนเกิดวิกฤตโควิด) มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 35 หน่วย โดยในช่วงวิกฤตโควิดดัชนีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจของไทยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 61 หน่วย สูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนช่วงเกิดโควิดถึง 76% สำหรับในปี 2024 ประเมินว่าดัชนีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจของไทยจะปรับลดลงเล็กน้อย โดยมีค่าเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 43 หน่วย สูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนเกิดโควิดถึง 24%
รูปที่ 1 : ดัชนีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจของไทย ปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในประเทศที่มากระทบ
หน่วย : ดัชนี
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, Conflict and Mediation Event Observations และ matteoiacoviello.com
SCB EIC วิเคราะห์ปัจจัยที่จะส่งผลต่อความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจของไทย โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในประเทศ ดังนี้
1. ปัจจัยภายนอกประเทศ ได้แก่ ความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจโลกและความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์โลก ซึ่งสะท้อนความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่สูงขึ้นในช่วงหลังวิกฤตโควิดจากความกังวลเศรษฐกิจโลกถดถอยที่ยังมีอยู่ (รูปที่ 1B) สำหรับดัชนีความไม่แน่นอนด้านความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ SCB EIC ได้นำข้อมูล Geopolitical risk index จากฐานข้อมูลของ matteoiacoviello.com มาใช้สะท้อนความไม่แน่นอนจากตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์โลก ซึ่งปรับสูงขึ้นมากอย่างชัดเจนตั้งแต่เกิดความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนช่วงต้นปี 2022 และยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลง รวมถึงสถานการณ์โลกแบ่งขั้วระหว่างกลุ่มพันธมิตรสหรัฐฯ และจีนที่เห็นชัดขึ้นในช่วงหลัง (รูปที่ 1C)
2. ปัจจัยภายในประเทศ ได้แก่ ความไม่แน่นอนด้านนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ สำหรับความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจมหภาคแบ่งออกเป็น ความไม่แน่นอนด้านนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง ในการสร้างดัชนีความไม่แน่นอนด้านนโยบายการคลัง SCB EIC ได้นำความแปรปรวนแบบมีเงื่อนไขของข้อมูลการอุปโภคบริโภคภาครัฐและการลงทุนภาครัฐมาใช้เป็นตัวสะท้อน สำหรับการสร้างดัชนีความไม่แน่นอนด้านนโยบายการเงินได้นำความแปรปรวนแบบมีเงื่อนไขของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ประเภท Minimum Loan Rate (MLR) มาใช้เป็นตัวสะท้อน (รูปที่ 1D) จากรูปจะเห็นได้ว่า แม้ความไม่แน่นอนด้านนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของไทยอยู่ในระดับต่ำกว่าอดีตค่อนข้างมาก แต่ได้ปรับสูงขึ้นในช่วงวิกฤตโควิดและช่วงการทยอยปรับนโยบายการเงินสู่ระดับปกติ
สำหรับความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ SCB EIC ได้นำข้อมูล Conflict and mediation event observations จาก GDELT project ซึ่งสร้างขึ้นจากข่าวเหตุการณ์ประท้วงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในไทย เป็นตัวแทนของดัชนีความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ (รูปที่ 1E) จากรูปพบว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทยปรับสูงขึ้นในช่วงปี 2020 ส่วนหนึ่งจากเหตุการณ์ประท้วงของผู้ที่สนับสนุนและผู้ที่ไม่สนับสนุนการทำงานรัฐบาลและศาลรัฐธรรมนูญในขณะนั้น ดัชนีความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศปรับลดลงในปี 2023 ซึ่งมีการเลือกตั้งใหม่และจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่
การส่งผ่านความไม่แน่นอนสู่เศรษฐกิจไทย
SCB EIC วิเคราะห์การส่งผ่านความไม่แน่นอน 4 ด้านต่อดัชนีความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทย โดยใช้ Generalized additive model ในช่วงข้อมูลตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 1993 ถึง ไตรมาส 2 ปี 2023 พบข้อเท็จจริงที่น่าสนใจดังนี้
1. ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่มาจากความไม่แน่นอนของปัจจัยภายในประเทศเอง ซึ่งคิดเป็น 52% ของความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทยตลอดช่วงศึกษา แบ่งเป็นความไม่แน่นอนด้านนโยบายการเงิน 23% ความไม่แน่นอนด้านนโยบายการคลัง 18% และความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ 11% สำหรับปัจจัยภายนอกประเทศส่งผลต่อความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทยราว 38% ส่วนใหญ่มาจากความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจโลก 28% และราว 10% มาจากความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์ ส่วนที่เหลือราว 10% มาจากปัจจัยอื่น ๆ (รูปที่ 2)
2. ความไม่แน่นอนของปัจจัยภายนอกประเทศมีบทบาทสูงในช่วงโลกเกิดวิกฤตและส่งผลผลเชื่อมโยงมาสู่ไทย เช่น ช่วงวิกฤตหนี้ในยุโรปช่วงปี 2012-2013 เหตุการณ์ Taper tantrum ในปี 2013 และช่วงวิกฤตโควิดตั้งแต่ปี 2020
3. มองไปในปี 2024 ดัชนีความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทยจะยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตจากปัจจัยความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจโลกและนโยบายการคลัง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะมีผลส่งผ่านมายังการส่งออกและการลงทุนเอกชนไทย ขณะที่นโยบายการการคลังยังมีความไม่แน่นอนจากขนาดและผลกระทบของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น โครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Digital wallet)
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, Conflict and Mediation Event Observations และ matteoiacoviello.com
นอกจากนี้ ปัจจัยความไม่แน่นอน 4 ด้านยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในช่องทางแตกต่างกัน SCB EIC ได้ศึกษาการวิเคราะห์การตอบสนองขององค์ประกอบ GDP จากแรงกระตุ้น (Impulse response analysis) โดยกำหนดให้ “แรงกระตุ้น” ของตัวแปรความไม่แน่นอนแต่ละด้านในขนาด 1 S.D. ด้วยแบบจำลองทางเศรษฐมิติ โดยใช้ข้อมูลตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 1993 ถึง ไตรมาส 4 ปี 2019 พบว่า
1. ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้นจะกระทบการส่งออกสินค้าไทยทันที -2.1%QOQ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจเปิดขนาดเล็กที่พึ่งพาอุปสงค์ต่างประเทศในการส่งออกสินค้าสูงราว 60% ของ GDP
หมายเหตุ : เส้นประสีเทา คือ ช่วงความเชื่อมั่น 95% ของการตอบสนองจากแรงกระตุ้น
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ CEIC
2. ความไม่แน่นอนของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อส่งออกสินค้าเพียง -0.01%QOQ (รูปที่ 4) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของโลกมีผลต่อการส่งออกไทยจำกัด เนื่องจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ไม่ได้เกิดขึ้นรุนแรงในบริเวณใกล้เคียงประเทศไทย เช่น ความขัดแย้งระหว่างจีน-ไต้หวัน-สหรัฐฯ จึงยังไม่ได้กระทบการส่งออกไทยโดยตรง
หมายเหตุ : เส้นประสีเทา คือ ช่วงความเชื่อมั่น 95% ของการตอบสนองจากแรงกระตุ้น
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ matteoiacoviello.com
3. ความไม่แน่นอนจากการดำเนินนโยบายการคลังที่เพิ่มขึ้นส่งผลต่อการบริโภคภาคเอกชนที่ -1.5%QOQ (รูปที่ 5) โดยความไม่แน่นอนของการใช้จ่ายภาครัฐจะมีผลให้ประชาชนใช้จ่ายลดลงทันที -1.0%QOQ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
หมายเหตุ : เส้นประสีเทา คือ ช่วงความเชื่อมั่น 95% ของการตอบสนองจากแรงกระตุ้น
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
4. ความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนลดลงสะสม -0.8%QOQ โดยความไม่แน่นอนของการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะทำให้ความไม่แน่นอนของต้นทุนการกู้ยืมเงินของผู้กู้เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้กู้รายใหม่ตัดสินใจชะลอการลงทุน ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนลดลงต่อเนื่องอีก 3 ไตรมาสจึงจะกลับเข้าสู่ระดับเดิมได้ (รูปที่ 6)
หมายเหตุ : เส้นประสีเทา คือ ช่วงความเชื่อมั่น 95% ของการตอบสนองจากแรงกระตุ้น
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
5. ความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น (ระดับความรุนแรงใกล้เคียงเหตุประท้วงปี 2006, 2008 และ 2013) จะส่งผลให้การส่งออกภาคบริการของไทยลดลง -1.7%QOQ ในไตรมาสถัดมา ซึ่งผลกระทบไม่รุนแรงมากนัก ทิศทางสอดคล้องกับผลศึกษาของ Luangaram & Sethapramote (2018) อย่างไรก็ดี ผลศึกษาจากงานนี้อาจแตกต่างไปบ้าง เนื่องจากปัจจุบันภาคการท่องเที่ยวไทยยังอยู่ระหว่างการฟื้นตัวหลังวิกฤตโควิด รายจ่ายนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อคนจึงยังอยู่ในระดับต่ำกว่าในช่วงก่อนหน้าปี 2020 อยู่มาก
หมายเหตุ : เส้นประสีเทา คือ ช่วงความเชื่อมั่น 95% ของการตอบสนองจากแรงกระตุ้น
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ Conflict and Mediation Event Observations
ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยท่ามกลางความไม่แน่นอน
SCB EIC ประเมิน (ณ 14 กันยายน 2023) ว่า ในปี 2024 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่อเนื่องที่ 3.5% และกลับไปแตะระดับศักยภาพเดิมได้ในช่วงต้นปี โดยมีการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อเนื่องจากปีนี้ ทั้งนี้คาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2024 จะเพิ่มเป็น 37.7 ล้านคนทยอยฟื้นตัวเข้าใกล้ระดับก่อนโควิดที่ 40 ล้านคน แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนและค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวต่อคนอาจถูกกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ภายใต้แนวโน้มการแข่งขันกันดึงดูดนักท่องเที่ยวจากประเทศปลายทางอื่น ๆ และนโยบายสนับสนุนการท่องเที่ยวของรัฐบาลใหม่ เช่น นโยบายฟรีวีซ่าให้นักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ การขยายศักยภาพบริการภาคพื้นดินของสนามบิน
ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปีหน้ายังรวมถึงการลงทุนภาคเอกชนและการส่งออกสินค้า การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นตามแนวโน้มการอนุมัติการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment : BOI) และความเชื่อมั่นทางธุรกิจในระยะข้างหน้าที่ปรับดีขึ้นหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ รวมถึงแนวโน้มการส่งออกที่จะกลับมาฟื้นตัวเติบโตเป็นบวกได้ในปีหน้า ทั้งนี้ SCB EIC ประเมินมูลค่าส่งออกไทยปี 2024 จะกลับมาขยายตัวได้ 3.5% จากทิศทางการค้าโลกที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวได้บ้างและปัญหาคอขวดอุปทานคลี่คลายลง และการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 4.4% จากแนวโน้มการอนุมัติการลงทุนของ BOI และการส่งออกที่กลับมาฟื้นตัว
นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยในปี 2024 อาจมีปัจจัยบวกจากความไม่แน่นอนของนโยบายการคลัง โดยเฉพาะการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ผ่านโครงการ Digital wallet ซึ่งจากการแถลงปรับเงื่อนไขโครงการเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2023 กำหนดกลุ่มเป้าหมายครอบคลุมคนไทย 50 ล้านคน และวงเงินโครงการประมาณ 500,000 ล้านบาท (ราว 3% ของ Nominal GDP) ซึ่ง SCB EIC ประเมินว่าอาจกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยปีหน้าเติบโตได้สูงเกิน 5% ชั่วคราว อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยอาจกลับมาเติบโตในระดับศักยภาพตามเดิม หากโครงการฯ นี้ไม่ได้ส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจได้มากและนานหลายปีตามเจตนารมณ์แรกเริ่มของรัฐบาล (รูปที่ 8)
เนื่องด้วยรัฐบาลจะออกร่าง พ.ร.บ. เงินกู้สำหรับใช้เป็นแหล่งเงินของโครงการฯ นี้ SCB EIC ประเมินว่า มาตรการกระตุ้นการคลังครั้งใหญ่นี้จะทำให้ประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในระยะปานกลางสูงเกินเพดานหนี้สาธารณะ 70% ต่อ GDP เร็วขึ้น 2 ปีจากเดิมในปี 2030 อีกทั้ง จะส่งผลให้พื้นที่การคลังของประเทศสำหรับรองรับความไม่แน่นอนต่าง ๆ ในระยะข้างหน้ามีน้อยลง
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2024 จะยังสามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง แต่ก็อาจจะต้องเผชิญความไม่แน่นอนหลายด้าน โดยเฉพาะความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจโลก และความไม่แน่นอนด้านนโยบายการคลังไทยของรัฐบาลชุดใหม่ทั้งจากกรอบนโยบายระยะสั้นและระยะปานกลาง รวมถึงความไม่แน่นอนจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และกระแสโลกแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจที่กำลังเป็นประเด็นสำคัญมากขึ้น SCB EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูง และมีโอกาสจะเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำมากกว่าความเสี่ยงด้านสูง (รูปที่ 9)
เศรษฐกิจไทยกลับสู่ระดับศักยภาพในช่วง 1Q24 กิจกรรมทางเศรษฐกิจไทยกลับสู่ระดับ Pre-COVID-19 ใน 3Q23
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ดังนั้น รัฐบาลควรมีแนวทางเชิงรุกในการกำหนดนโยบายสำหรับการเติบโตที่ยั่งยืนและการต้านทานต่อความไม่แน่นอน ด้วยการมุ่งสร้างกลไกการเติบโตใหม่และเสริมสร้างความสามารถในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยจาก 2 แนวทางหลัก คือ 1) การเติบโตที่นำโดยนวัตกรรมและเทคโนโลยี (Innovation and technology-led growth) เช่น การผลักดันการวิจัยและพัฒนา การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล การศึกษาและการพัฒนาทักษะ และการสนับสนุนระบบนิเวศสตาร์ตอัป 2) แนวทางปฏิบัติเศรษฐกิจยั่งยืน (Sustainable economic practices) เช่น นโยบายส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว การริเริ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน และนโยบายตาข่ายความปลอดภัยทางสังคม โดยทั้ง 2 แนวทางหลักนี้จะเป็นการวางรากฐานสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่แข็งแกร่ง ยืดหยุ่น และพร้อมเผชิญความไม่แน่นอนทุกรูปแบบได้ในอนาคต
บทวิเคราะห์โดย… https://www.scbeic.com/th/detail/product/thai-economy-151123
อ้างอิง
Apaitan, T., Luangaram, P., & Manopimoke, P. (2020). Economic impacts of Political Uncertainty in Thailand. Retrieved from https://www.pier.or.th/files/dp/pier_dp_130.pdf
Luangaram, P., & Sethapramote, Y. (2018). Uncertainty and Economic Activity: Does it Matter for Thailand? Retrieved from https://www.pier.or.th/files/dp/pier_dp_086.pdf
Schrodt, P. A. (2012). Conict and Mediation Event Observations Event and Actor Codebook. Retrieved from www.researchgate.net/publication/2840364_Confl ict_and_Mediation_Event_Observations_CAMEO_A_New_Event_Data_Framework_for_the_Analysis_of_Foreign_Policy_Interactions
ผู้เขียนบทวิเคราะห์
นายอสมา เหลี่ยมมุกดา (asama.liammukda@scb.co.th) นักเศรษฐศาสตร์